กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์
การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยให้เป็นทรัพยากรคุณภาพ และสามารถแข่งขันกับสังคมโลกได้นั้น “ครอบครัว” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะพัฒนาการด้านต่างๆ จะถูกปลูกฝังในช่วงปฐมวัย
ด้วยเหตุนี้พ่อแม่จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานและเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการที่จะเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งพ่อแม่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในพัฒนาการของลูก มีวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
เพื่อเป็นการสืบสานพระปณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนนานาชาติเมจิกเยียร์ส และ บริษัทในเครือรักลูกกรุ๊ป จึงได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ภายใต้ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยตั้งแต่เยาว์วัยและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง
โดยโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 ได้สร้างให้เกิด “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” ขึ้นในพื้นที่ดำเนินงานของ ศูนย์ 3 วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว ทั้ง 19 จังหวัด จำนวนกว่า 1,000 คน โดยวิทยากรเหล่านี้จะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการพัฒนาบุตรหลานด้วยการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกไปแล้วมากกว่า 3,260 คน
นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมศักยภาพสมองของเด็กและเยาวชน และรองประธานฝ่ายพัฒนาวิชาการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า การส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีความสมบูรณ์ ความรักและความผูกพันในครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
“กิจกรรมเล่านิทาน อ่านหนังสือ และเล่นกับลูก นอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการในแง่มุมต่างๆ ของเด็กแล้ว จุดสำคัญที่สุดคือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกเป็นที่รักของครอบครัว มีความสุข มีความมั่นใจ คือหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาการที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก” นพ.อุดมระบุ
จากความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี 2554 จึงได้มีการขยายพื้นที่จัดอบรมวิทยากรกระบวนการสานสายใยรักเพิ่มขึ้นอีก 11 จังหวัดประกอบไปด้วย กำแพงเพชร พะเยา น่าน ขอนแก่น มุกดาหาร นครนายก สระบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ระนอง และจังหวัดตรัง เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ของพ่อแม่ให้กว้างขวางขึ้น และมีการทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 30 จังหวัด
นายศตวรรษ สถิตเพียรศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 จังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวในระหว่างการจัดอบรมวิทยากรกระบวนการสานสายใยรักที่จังหวัดน่านว่า จากการวิจัยเรื่องไอคิวและอีคิวของเด็กของเด็กไทยพบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตัวชี้วัดนี้เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัย
“นับเป็นพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่ได้มีโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกเข้ามาช่วยพัฒนาเด็กไทยเรื่องนี้ โดยจัดให้มีการอบรมวิทยากรกระบวนการเพื่อไปถ่ายทอดความรู้ให้กับพ่อแม่และผู้ปกครอง รวมถึงกระตุ้นให้สังคมได้เอาใจใส่และให้ความสำคัญกับการเล่านิทานอ่านเล่นกับลูก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กปฐมวัยให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเด็กในช่วงที่เข้าสู่ระบบการศึกษาหรือเมื่อโตเป็นวัยรุ่น” นายศตวรรษะระบุ
นางสาววีณา มาน้อย เจ้าหน้าที่ของศูนย์ 3 วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวหนองหลวง จังหวัดกำแพงเพชร ผู้เข้ารับการอบรมวิทยากรฯ เล่าว่า การอบรมในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนมีสาเหตุมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลาน ทำให้เด็กไม่ได้รับความรักความอบอุ่น
“เราจะทำหน้าที่เติมเต็มสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็ก โดยจะนำความรู้ที่ได้รับกลับไปใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ กับเด็ก และจะจัดเวทีเรียนรู้เรื่องการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกให้กับครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมดในตำบล และให้เกิดการขยายผลต่อไปยังผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนของเราได้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน” นางสาววีณากล่าว
นางจตุพร ไชยสาร หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคริสตจักรวัดถ้ำพัฒนาถ้ำมงคล อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ที่ได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เล่าว่า ผู้ปกครองทุกคนควรจะได้รู้ว่าการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก มีส่วนช่วยการพัฒนาได้ทุกด้าน รวมไปถึงเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม
“อย่างการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หนังสือก็จะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง แต่ตัวของเราหรือพ่อแม่ ก็จะเป็นสื่ออีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับเด็ก เกิดเป็นความรักความผูกพัน และเมื่อกลับไปแล้วก็จะไปจัดเวทีเรียนรู้ให้กับผู้ปกครอง เพื่อให้พ่อแม่และผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก แล้วก็มีความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง” นางจตุพรกล่าว
“สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือ คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เราจึงมองว่าจะมีวิธีการอย่างไรจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ของเราเป็นผู้ที่มีคุณภาพ ทั้งแง่ความเป็นมนุษย์ความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับโลก ซึ่งเราพบว่าการอ่านหนังสือ เล่านิทาน การเล่น คือเครื่องมือสำคัญที่สุด และได้รับการพิสูจน์ทั้งด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และวิทยาศาสตร์ว่า สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้านได้” นายแพทย์อุดมกล่าวสรุป.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เหมวดี พลรัฐ บริษัท ไอแอมพีอาร์ จำกัด