กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัว 3 ผลงานวิจัยเพิ่มผลผลิตการเกษตร ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน ได้แก่ “การเพิ่มผลผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏานโดยใช้กากอ้อยโรงงานน้ำตาล” สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 1.2-1.7 เท่าจากวิธีการเดิมและลดต้นทุนการขนส่ง “การเพิ่มผลผลิตผักกาดหอมใบด้วยหลอดไดโอดเปล่งแสง” ลดอายุการเก็บเกี่ยวน้อยลง 5 วัน ให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้แสงธรรมชาติ 1.3 เท่า และประหยัดพลังงานไฟฟ้า “เมนูผักหวานป่าสำเร็จรูปเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์” คงคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ หวังสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการเกษตรของไทย
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตหลากหลายชนิด ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามจากการเปิดตลาดเสรีทางการค้าในปัจจุบันส่งผลให้มีการแข่งขันสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดียิ่งขณะนี้สถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของ วว. ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มผลผลิตการเกษตรจำนวน 3 ผลงานวิจัย ดังนี้
การเพิ่มผลผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏานโดยใช้กากอ้อยโรงงานน้ำตาล โดยการนำกากอ้อยโรงงานน้ำตาลมาใช้ทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา ซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากค่าขนส่งจากแหล่งแปรรูปไม้ยางพารา ทำให้ต้นทุนในการผลิตเห็ดเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าวัสดุเพาะเห็ดนี้สามารถเพิ่มผลผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏาน 1.2-1.7 เท่าของการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพียงอย่างเดียว โดยการใช้กากอ้อยโรงงานน้ำตาลทราย 25 เปอร์เซ็นต์ผสมกับขี้เลื่อย 75 เปอร์เซ็นต์จะให้ผลผลิตของเห็ดนางฟ้าภูฏานมากที่สุด
การเพิ่มผลผลิตผักกาดหอมใบด้วยหลอดไดโอดเปล่งแสง ดำเนินการพัฒนาออกแบบและทดสอบกระโจมพลังงานแสง โดยใช้ไดโอดเปล่งแสงเป็นแหล่งกำเนิดแสงสำหรับปลูกผักกาดหอมใบขนาด 1 ตารางเมตร พบว่ามีการใช้กระแสไฟน้อยกว่าการใช้หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ประมาณ 4 เท่าและให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ 1.8 เท่าและสูงกว่าการใช้แสงธรรมชาติ 1.3 เท่า ส่วนการใช้ไดโอดเปล่งแสงเพื่อเพิ่มแสงในตอนกลางคืน (กลางวันใช้แสงธรรมชาติ) ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.4 เท่าเมื่อเทียบกับแสงธรรมชาติ นอกจากนี้การใช้หลอดไดโอดเปล่งแสงยังทำให้อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมสั้นลง 5 วันเมื่อเทียบกับการใช้แสงธรรมชาติ (ไดโอดแสงใช้เวลาเก็บเกี่ยว 31 วัน ส่วนแสงธรรมชาติใช้เวลาเก็บเกี่ยว 36 วัน)
เมนูผักหวานป่าสำเร็จรูปเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป” ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ช่วงนอกฤดูกาลของผักหวานป่า โดยการอบแห้งยอดและใบอ่อนของผักหวานป่าที่เหมาะสม ทำให้ยอดและใบอ่อนผักหวานป่ามีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อย กล่าวคือวิตามินซีของยอดผักหวานป่าโดยวิธีการทำแห้งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผักหวานป่าสด พบว่าวิตามินซีในยอดผักหวานป่าแห้งลดลงไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดผักหวานป่าสด
สำหรับการรับประทาน ทำได้โดยนำส่วนผสมทั้งหมดเทใส่ชามและใส่น้ำประมาณ 250-300 มิลลิลิตรหรือประมาณ ? ของชาม แล้วนำไปอุ่นด้วยไมโครเวฟประมาณ 3 นาทีหรือต้มในน้ำที่เดือดแล้วประมาณ 2 นาที
นายสายันต์ ตันพานิช ผู้อำนวยการ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยเพิ่มผลผลิตการเกษตรทั้ง 3 ผลงานดังกล่าว วว. มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้สนใจเพื่อนำไปผลิตจำหน่ายหรือต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการเกษตรของประเทศ และสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผลจากการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในด้านการเกษตร จะทำให้ผลผลิตการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันกับผลผลิตของประเทศอื่นๆในด้านมาตรฐานของแหล่งผลิตและคุณภาพของผลผลิต
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยเพิ่มผลผลิตการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี วว. ได้ที่ Call Center วว. โทร. 0 2577 9300 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ สถานีวิจัยลำตะคอง โทร. 044 390 107 www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th