การป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 31, 2007 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ปภ.
ทุกครั้งที่เกิดอัคคีภัยขึ้นไม่ว่าจะสร้างความสูญเสียมากหรือน้อย ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสถานที่หนึ่งที่มักเกิดอัคคีภัยบ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น ยังรวมถึงชีวิตของพนักงานอีกด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะนำถึงวิธีการป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน ให้แก่ผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม และพนักงานในโรงงานได้เรียนรู้ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดอัคคีภัย ดังนี้
- เจ้าของโรงงาน ควรจัดระบบและแผนผังโรงงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยหากเกิดอัคคีภัยขึ้น และควรกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ เครื่องจักรที่อาจเกิดอัคคีภัย และแผนการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานและปลอดภัยจากอัคคีภัย รวมทั้ง ควบคุมสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น การใช้ไฟ การก่อเกิดไฟ เปลวไฟ ไฟฟ้า ความร้อน ไฟฟ้าสถิตย์ และการทำงานที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ เช่น การเชื่อมโลหะ การตัด การขัด ท่อร้อนต่างๆ สารไวไฟ ควรจัดระเบียบความเรียบร้อย โดยขจัดสิ่งรกรุงรังภายในอาคารให้หมดไป ตรวจสอบสายไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องทำความร้อน ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และปลอดภัย หากพบว่าชำรุดให้รีบซ่อมแซมแก้ไขทันที ควรวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย เช่น ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบดับเพลิงอัตโนมัติในจุดที่มีสารไวไฟหรือสารติดไฟได้ง่าย ภายในโรงงานและอาคารสำนักงานควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยควรติดตั้งสายล่อฟ้าที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากนายตรวจป้องกันอัคคีภัยและปฏิบัติตามข้อห้ามที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยของสถาบันต่างๆ และฝึกซ้อมแผนหนีภัยร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
- พนักงาน ควรมีส่วนร่วมในการป้องกัน โดยปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยในการทำงาน ได้แก่ การไม่ก่อกองไฟ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ทำการซ่อมแซมเครื่องจักรหรือเครื่องมือในบริเวณที่มีสารไวไฟหรือในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้พนักงานควรกำจัดขยะหรือเศษวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งต่อกะ หากพนักงานใส่เสื้อที่เปียกเปื้อนด้วยสารไวไฟให้เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และเมื่อต้องขนถ่ายสิ่งของในบริเวณที่มีสารไวไฟและถังแก๊สจะต้องระมัดระวัง การชน การกระแทก
หรือการก่อให้เกิดอัคคีภัย ช่วยกันตรวจสอบสายไฟฟ้า หลอดไฟ สวิทซ์มอเตอร์ไฟฟ้าพัดลม เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้า หากพบว่าชำรุดควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อทำการซ่อมแซมแก้ไขทันที และเมื่อพบสิ่งที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ให้รีบรายงานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทันที
เมื่อทั้งเจ้าของสถานประกอบการและพนักงานในโรงงานร่วมกันป้องกันอัคคีภัยเป็นอย่างดีแล้ว เชื่อได้แน่ว่า อัคคีภัยคงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ