กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สหมงคลฟิล์ม
กำหนดฉาย 12พ.ค.54
แนวภาพยนตร์ คอมิดี้-ดราม่า-โรแมนติค
สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการสร้าง อัครพล เตชะรัตนประเสริฐ
กำกับภาพยนตร์ ชิโนเรศ คำวันดี
เรื่อง สุมิตร เที่ยงตรงจิตร
บทภาพยนตร์ สุมิตร เที่ยงตรงจิตร, ชิโนเรศ คำวันดี
กำกับภาพ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ (โหมโรง, โกลคลับ เกมส์ล้มโต๊ะ, นางนาก, จันดารา, ฟ้าทลายโจร, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, องค์บาก1-2-3, ต้มยำกุ้ง, ชัมบาลา)
ที่ปรึกษาออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น และ ทีม (2499 อันธพาลครองเมือง, นางนาก, ฟ้าทลายโจร, จันดารา, ปืนใหญ่จอมสลัด, มหาลัยฯ เหมืองแร่, เดอะเลตเตอร์-จดหมายรัก, องค์บาก 2)
กำกับศิลป์ วิกรม เจนมนัส
ลำดับภาพ ศราวุธ นะคะจัด
ดนตรีประกอบ บานาน่า เรคคอร์ด
ออกแบบเครื่องแต่งกาย ชาติชาย ไชยยนต์ (ไชยา, บางระจัน, ปืนใหญ่จอมสลัด, องค์บาก2-3, ลุงบุญมีระลึกชาติ)
แต่งหน้า ภูษะนิศา กิติเกรียงไกร
ทำผม ธนกร ยิ้มงาม
นักแสดง ภัทรภณ โตอุ่น (รอน เอเอฟ 5), อนุสรา วันทองทักษ์ (เปรี้ยว เอเอฟ2), หนูหิ่น-รุ้งลาวัลย์ โทนะหงษา, CER JAMES SPAINHOUR, นพดล ดวงพร, ปิยะ ตระกูลราษฎร์, ปริศนา วงศ์ศิริ, ชไมพร สิทธิวรนันท์, เหลือเฟือ มกจ๊ก, ยาว ลูกหยี,
เรื่องย่อ
เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวอีสานยุคใหม่ (ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ นะ!!!) พร้อมกับคำถามคำโตฝากไปให้หนุ่มไทยทั้งหลายเอากลับไปคิดว่า “หนุ่มฝรั่งตาน้ำข้าวมีดีจั๋งได๋แท้น้อ??? อีนางทั้งหลายถึงปันใจจะไปมีผัวฝรั่งกันเมิ้ด?” ผ่านมุมมองของบักมาร์ค (โดดขึ้นจอเป็นครั้งแรกของรอน AF 5-ภัทรภณ โตอุ่น) หนุ่มอีสานที่เฝ้าฝันจะมีอนาคตที่ดีเพื่อกลับมาพัฒนาหมู่บ้านโดยมีพ่อที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน (ปิยะ ตระกูลราษฎร์) เห็นดีเห็นงามด้วยตัดสินใจขายควายส่งลูกชายเข้าเรียนนิติศาสตร์รามฯ หวังว่าจบมาจะได้เป็นปลัดหรือทนาย แต่หลังจากใช้ชีวิตในรั้วมหา’ลัยในกรุงมา 6 ปีเต็ม ก็ยังสอบไม่ผ่านสักที เพราะติดอยู่ที่วิชาอังกฤษ 2 (EN.102) วิชาเดียวที่นอกจากจะไม่ถนัดแล้วยังไม่ใช่ภาษาประจำชาติอีกต่างหาก จนเกิดอาการท้อ และตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด ก่อนที่จะพบว่าหมู่บ้านกำลังถูกรุกรานทางวัฒนธรรม (ขนาดนั้น?) เมื่อผู้สาวที่ทั้งสาวและไม่สาวต่างมีค่านิยมใหม่ขึ้นมากันเป็นแถวนั่นคือ “การนิยมมีเขยฝรั่ง-LOVE FARANG” แม้แต่แต๋วแหล่ (หนูหิ่น-รุ้งลาวัลย์ โทนะหงษา) ที่เกลียดฝรั่งขนาดหนักก็ยังเปลี่ยนใจไปรับฮักพ่อบักสีดา เอาละซิ!!! ความสงบสุขที่เคยมีกำลังจะสูญหาย สถานการณ์รอบตัวย่ำแย่อย่างหนัก กระทั่งเพื่อนรักอย่างทิดสุบรรณ (เหลือเฟือ มกจ๊ก) ยังโดนบัวผัน (เปิ้ล-ชไมพร สิทธิวรนันท์) เมียสาวหัวหน้าชมรมตำกล้วยที่ปลื้มฝรั่งขนาดหนักทิ้ง และมีแนวโน้มว่าแววดาว (เปรี้ยว AF 2-อนุสรา วันทองทักษ์) หญิงที่ตนเองหมายปองก็อาจจะรับรัก “เขยฝรั่ง” เป็นคนต่อไป แถมแม่มะลิ (ปริศนา วงศ์ศิริ) ของแววดาวก็ยังเป็นตัวตั้งตัวตีและเห็นดีเห็นงามด้วย เห็นทีบักมาร์คต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติและประกาศให้โลกรู้ว่าหนุ่มอีสานยุคใหม่ก็มีดีบ่แพ้ฝรั่งซะแล้ว
เตรียมสัมผัสอารมณ์คึกคักของหนังรักโรแมนติกหยิกแกมหยอกกะเทาะความรู้สึกที่รับรองว่าม่วนซื่นโฮแซวคักหลายๆ เลยพี่น้อง นำทีมเซอร์ไพรส์ก้อนโตจากทัพนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง รอน-เปรี้ยว AF กับการประกบบทบาทเป็นคู่ฮักเว้าอีสานขึ้นจอพร้อมกันเป็นครั้งแรก ร่วมด้วยเหล่านักแสดงที่แค่เห็นหน้าก็พร้อมฮาหงายหลังอย่าง หนูหิ่น-รุ้งลาวัลย์, โทนะหงษา, เหลือเฟือ มกจ๊ก, ยาว ลูกหยี และการคืนจออีกครั้งในรอบหลายๆ ปีของปิยะ ตระกูลราษฎร์, ปริศนา วงศ์ศิริ, นพดล ดวงพร ฯลฯ
ใครเป็นใครใน“อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง”
หลากหลายบทบาทคาแรคเตอร์จากเหล่านักแสดงมากมายร่วมสร้างสีสันล้นจอ
เปรี้ยว AF รับบท แววดาว สาวอีสานรุ่นใหม่ ฉลาด แก่นซน สดใส ร่าเริง กล้าคิดกล้าทำ มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ รักถิ่นฐานและความเป็นอีสานของตัวเอง รักใครรักจริง ถึงไม่ได้ปลื้ม “เขยฝรั่ง” เหมือนสาวๆ คนอื่น แต่ถ้าหนุ่มอีสานยังทำตัวสำมะเลเทเมา และไร้อนาคตก็อาจจะปันใจรับรักเขยฝรั่งไปซะเลย ถึงแม้นว่าลึกๆ จะชอบมาร์ค แต่ด้วยความที่โตมาด้วยกันจึงมักจะเป็นคู่กัดมากกว่าคู่รักแต่ถึงกระนั้นแววดาวก็คอยเป็นกำลังใจมาร์คเสมอ รวมทั้งเป็นติวเตอร์สอนวิชาภาษาอังกฤษให้
รอน AF (ภัทรภณ โตอุ่น) รับบท มาร์ค หรือ บุญมาก ซื่อ จริงจังและจริงใจคือหนุ่มอีสานรุ่นใหม่หัวหน้ากลุ่มควายด่อนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น มีความฝันจะพัฒนาหมู่บ้าน ถึงขนาดผู้ใหญ่สุขผู้เป็นพ่อยอมขายควายส่งให้มาร์คเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ กระทั่ง6ปีผ่านไปก็ยังเรียนไม่จบ ติดอยู่วิชาเดียวคือภาษาอังกฤษ ทำให้แม่ของแววดาวพยายามกีดกันไม่ให้มาร์คคบกับแววดาว จนต้องลุกขึ้นมาพิสูจน์ให้รู้ว่า “หนุ่มอีสาน” ก็มีดีไม่แพ้ “เขยฝรั่ง” เช่นกัน
รุ้งลาวัลย์ โทนะหงษา (หนูหิ่น) รับบท แต๋วแหล่ สาวไร่อ้อยตัวดำๆ กระเต็มหน้า เรียกได้ว่าขี้เหร่แท้ๆ “แต๋ว” เป็นตัวแทนของ “อีนางเอ๊ย” ที่สวยจากภายใน จิตใจดี ไม่แต่งหน้าไม่แต่งตัว อยู่ด้วยความพอเพียงเลี้ยงตัวเอง ไม่เม้าท์ ไม่ง้อใคร ถึงแม้จะมีหนุ่มตาน้ำขาวอย่าง “โรเบิร์ต” ฝรั่งต่างแดนแฮนด์ซั่มหล่อมากข้ามน้ำข้ามทะเลมามาขอฝากรักเป็น “เขยฝรั่ง” ก็ตาม
ซีเจ CER JAMES SPAINHOUR รับบท โรเบิร์ต ตัวแทนของ “เขยฝรั่ง” ที่ร่ำรวยฐานะ การศึกษาพร้อม สุภาพ จิตใจดี ได้รับการแนะนำจากเพื่อนฝรั่ง พี่เขยของแววดาว ถึงความงามภายในของสาวอีสานอย่างแต๋วแหล่ จึงตัดสินใจบินมาเสนอตัวขอเป็นเขยฝรั่ง ถึงขนาดยอมตรากตรำทำสารพัดวิธี ใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนตามแบบคนอีสาน แม้กระทั่งยินดียอมเป็นหนุ่มไร่อ้อยเพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่า “แต๋วจ๋า ไอเลิฟยู ไอเลิฟ ความเป็นอีสานและตัวตนของยูจริงจริงนะ”
เปิ้ล ชไมพร สิทธิวรนันท์ รับบท บัวผัน สาวอีสาน หัวหน้าชมรมตำกล้วย ขาเม้าท์ตัวจริง บ้าพลัง คือตัวตั้งตัวตี ปลื้มฝรั่งอย่างออกหน้าออกตา ถึงขนาดใส่บาตรด้วย “ฝรั่ง” และ “แฮมเบอร์เกอร์” หวังว่าทำอะไรตัวเองก็จะได้อย่างนั้น เป็นทั้งเจ้าของร้านเสริมสวยประจำหมู่บ้าน และเมียสาว หน้าคม สุดเซ็กซี่ของ ทิดสุบรรณ หนุ่มอีสาน (ซึ่งรับบทโดยตลกเหลือเฟือ มกจ๊ก) ที่ทั้งไม่ TALL & HANDSOM (สูงชะลูดตูดปอดล่ำบึ้กแล้ว) ยังNO MONEY อีกต่างหาก ทำให้เจ้าตัวอยากจะตีตั๋วเครื่องบินหนีตาม “เขยฝรั่ง” ไปวันละหลายๆ รอบ
เหลือเฟือ มกจ๊ก รับบท ทิดสุบรรณ หนุ่มอีสานเพื่อนรุ่นพี่ของมาร์คที่เติบโตมาด้วยกัน เป็น 1 ในสมาชิกชมรมควายด่อนที่ตกเย็นมักมีกิจวัตรการสังสรรค์ท่ามกลางวงเหล้า เป็นตัวแทนคนอีสานที่ทำไร่ทำนาเป็นอาชีพ กินเหล้าเมายาตามปกติ หนักเอาเบาสู้ เรียนน้อย ไม่ได้ร่ำรวยหรือฟุ้งเฟ้อ มีความเป็นอยู่ตามอัตภาพ เป็นอีกคนที่โดนพิษสงของอาการเห่อ “เขยฝรั่ง” ของสาวๆ ในหมู่บ้านอย่างเต็มเปา ถึงขนาดตกอยู่ในอาการเสียสูญเมื่อรู้ว่า “บัวผัน” เมียรักกำลังจะใจหนีไปซบอก “เขยฝรั่ง”
ปิยะ ตระกูลราษฎร์ รับบท ผู้ใหญ่สุข พ่อมาร์ค รักและให้อิสระ ทั้งความคิด และอนาคตให้เลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง คอยห่วงใยและไม่ยอมให้ใครมาดูถูก หรือกีดกั้นความรักที่บริสุทธิ์ใจของลูกชายเป็นอันขาด ชีวิตในอดีตเป็นเช่นหนุ่มอีสานทั่วไป สำมะเลเทเมา เจ้าชู้ รักสนุก แต่ปัจจุบันเป็นตัวแทนของคนอีสานที่รักผืนแผ่นดิน เป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่มีความสัตย์ซื่อ รับผิดชอบ และตั้งใจจริงมุ่งมั่นเพื่อที่จะพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกบ้าน และท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง
ปริศนา วงศ์ศิริ รับบท มะลิ แม่ของแววดาว สาวอีสานที่เติบโตและเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เป็นทั้งพ่อและแม่ รักลูกอย่างเต็มใจและบริสุทธิ์ใจ หวงและห่วงลูกสาวยิ่งกว่าไข่ในหิน ในอดีตเคยผิดหวังกับความรัก ทำให้สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำให้ลูกสาวต้องเสียใจ ทำทุกวิธีทางเพื่อให้ลูกสาวทั้งสองมีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี หลังจากลูกสาวคนโตได้ดิบได้ดีไปกับเขยฝรั่ง จึงตั้งใจว่าจะไม่ยอมให้ลูกสาวคนเล็กแต่งกับมาร์คหนุ่มอีสานไร้อนาคต จึงทั้งผลักและดันให้แววดาวได้เขยฝรั่งเป็นรายต่อไป
นพดล ดวงพร รับบท ตาสีตู๊ด ตัวแทนของคนอีสานที่ผ่านร้อนผ่านหนาว คือผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านที่รอบรู้ในวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ ไม่ว่างานบุญงานแต่งพิธีกรรมใดๆมักมีตาสีตู๊ดเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นที่ปรึกษาเสมอ เปรียบได้กับปราชญ์ชาวบ้านผู้รอบรู้ เป็นอีสานรุ่นเดอะที่ยังคงรักสนุก หลงใหลในการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ ชมชอบในกิจกรรสันทนาการบันเทิง ทุกรูปแบบ เข้าถึงสมาชิกหมู่บ้านได้ทุกกลุ่มไม่เกี่ยงเพศไม่เกี่ยงวัย โดยเฉพาะชมรมควายด่อนเฮที่ไหนตาสีตู๊ดก็ขอตามไปด้วย
รายละเอียดงานสร้างกว่าจะมาเป็น อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง (PRODUCTION NOTE)
ทำความรู้จักกับโครงการ “THAILAND SCRIPT PROJECT”
โครงการเฟ้นหาบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุดจากทั่วประเทศ
โดย “นนทรีย์ นิมิบุตร” และ “เป็นเอก รัตนเรือง”
บทภาพยนตร์ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญและเป็นจุดเริ่ิมต้นในการถือกำเนิดของโปรเจ็คต์ภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ว่ากันว่าหนังจะดีไม่ดีอยู่ที่บทภาพยนตร์ ถึงขนาดมีคนเคยกล่าวไว้ว่า การได้มาซึ่งบทภาพยนตร์ที่ดีไม่ต่างอะไรกับการงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว ทำให้ผู้สร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักแสดงระดับหัวกะทิหลายคนยอมทุ่มเทเวลาและงบประมาณ ตลอดจนหยาดเหงื่อแรงกาย เพื่อเฟ้นหาบทภาพยนต์ที่มีค่าคู่ควร และในกลางปี 2550 โครงการประกวดเขียนบทภาพยนตร์ Thailand script project 2007 เพื่อเฟ้นหาบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุดจากทั่วประเทศได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนนทรีย์ นิมิบุตร และเป็นเอก รัตนเรือง 2 ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแนวหน้าของเมืองไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานบริหารองค์ความรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี (OKMD) สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ Nokia
ด้วยกติกาคือการถ่ายทอดทรีทเมนต์เรื่องย่อความยาว5หน้ากระดาษA4ในเรื่องราวที่ผู้เข้าร่วมประกวดต้องการถ่ายทอด และนำเสนอเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง30เรื่องสุดท้าย โดยเจ้าของผลงานจะได้เข้าร่วมอบรมกับบรรดาวิทยากรที่มีทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท และโปรดิวเซอร์ที่มีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งได้แก่ เป็นเอก รัตนเรือง, นนทรีย์ นิมิบุตร, วิสูตร พูลวรลักษณ์, จิระ มะลิกุล, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, ยุทธเลิศ สิปปภาค, คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ก่อนที่ผู้เข้ารอบทั้ง 30 คนจะนำกลับไปพัฒนาเรื่องของตัวเองให้ออกมาเป็นบทภาพยนตร์โดยสมบูรณ์แบบในเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนด บทภาพยนตร์ทั้ง 30 เรื่องจะถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาผู้ชนะที่จะได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 15 เรื่อง ซึ่งกรรมการในรอบสุดท้ายประกอบไปด้วยบุคลากรระดับ “เขี้ยว” ในแวดวง อาทิ ชาติ กอบจิตติ, กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, วินทร์ เลียววาริณ, ม.ร.ว.ปัทมนัดดา ยุคล, พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์, ก้อง ฤทธิ์ดี, เกรียงศักดิ์ ศิลากอง และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรฐกุล โดยการถกเถียงดำเนินงานเป็นไปอย่างเข้มข้น ซึ่งงานนี้ไม่มีการโหวต แต่เป็นการใช้เหตุและผลพูดคุยถกเถียงกันจนกว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อหา บทภาพยนตร์ชนะเลิศ (BEST SCRIPT) ที่ดีที่สุดเพียงเรื่องเดียว
โดยมีไฮไลท์สำคัญที่กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญปิดท้ายโครงการ Thailand script project 2007 นั่นคือ Presentation Day โดยทางโครงการได้ทำการก็อปปี้บทภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่อง ส่งไปยังค่ายหนังและโปรดิวเซอร์ทั่วฟ้าเมืองไทย แล้วเชิญทั้งหมดมาฟังการพรีเซนต์ในเรื่องที่แต่ละค่ายหนังและแต่ละโปรดิวเซอร์สนใจด้วยการพรีเซนต์จากเจ้าของเรื่องเอง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดของภาพยนตร์ที่สร้างจากบทภาพยนตร์ที่ผ่านการกลั่นกรองและคัดเลือกจากโครงการไทยแลนด์สคริปต์โปรเจ็คต์ในภายภาคหน้าต่อไป
ทำไม “WHITE BUFFALO” ถึงคว้ารางวัล บทภาพยนตร์ชนะเลิศ (BEST SCRIPT)
จากทรีทเมนต์ภาพยนตร์ทั้งหมด 900 เรื่องที่เข้าร่วมประกวดอย่างเป็นเอกฉันท์
จากทรีทเมนต์เรื่องย่อภาพยนตร์ความยาว5หน้ากระดาษ A4 จำนวนทั้งหมด 900 เรื่องที่ถูกส่งเข้าร่วมประกวดจากผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายเพศและวัย ตั้งแต่นักศึกษา ผู้คนในวงการน้ำหมึก, โฆษณาและแม้แต่เหล่าบุคลากรในวงการภาพยนตร์ โดย1ในนั้นนั่นคือ “WHITE BUFFALO” ซึ่งเขียนโดย “สุมิตร เที่ยงตรงจิตร” ก็ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ กลายเป็น 1 ใน 40 เรื่องที่ผ่านเข้าสู่รอบสอง เพื่อที่จะถูกนำไปพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์โดยสมบูรณ์ และถูกนำกลับมาให้คณะกรรมการทำการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง15เรื่องสุดท้ายในอีก 3 เดือนต่อมา และในขั้นตอนนี้นี่เองที่บทภาพยนตร์เรื่อง “WHITE BUFFALO” (หรือชื่อ อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์) ได้ผ่านตาเหล่าบรรดาโปรดิวเซอร์และค่ายหนังต่างๆ ที่มีความสนใจในบทภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องที่มีโอกาสจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมาเช่นเดียวกับ บทภาพยนตร์เรื่องกะปิ ที่ถูกโปรดิวเซอร์ผู้กำกับชื่อดังอย่างปรัชญา ปิ่นแก้ว นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องกะปิลิงจ๋อไม่หลอกเจ้า หลังจากผ่านการเลือกเฟ้นโดยคณะกรรมการในที่สุดบทภาพยนตร์เรื่อง “WHITE BUFFALO” ก็เดินทางมาสู่จุดหมายปลายทางของความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศ BEST SCRIPT อย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีข้อกังขาใด ซึ่ง นนทรีย์ นิมิบุตร 1 ในคณะกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการเฟ้นหาบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุดจากทั่วประเทศ “THAILAND SCRIPT PROJECT” ได้กล่าวถึงเสน่ห์และความโดดเด่นของบทภาพยนตร์เรื่อง “WHITE BUFFALO” (อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง) ที่แตกต่างจากทรีทเมนต์ภาพยนตร์ทั้ง 900 เรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามารถเอาชนะใจคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลสูงสุดมาครองได้เป็นผลสำเร็จ
“จุดเด่นของบทภาพยนตร์เรื่องนี้คือผู้เขียนบทสามารถหยิบเอาวัฒนธรรมพื้นบ้าน มุมมองท้องถิ่นแบบของเขาเองมานำเสนอได้อย่างแข็งแรง คือถ้าผมอยู่ภาคอีสานแบบนั้นแล้วผมต้องพยายามเขียนถึงกรุงเทพเนี่ยะ ก็จะไม่เข้าใจกรุงเทพจริงๆ ว่าเป็นยังไง แต่ถ้าเกิดเขาพูดถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกิดในท้องถิ่นของเขา เขาจะรู้เห็นทุกซอกทุกมุม เพราะฉะนั้นจุดที่เด่นมากๆ คือเขาสามารถนำเรื่องรอบตัว วัฒนธรรมท้องถิ่นมานำเสนอ แล้วบังเอิญเรื่องที่นำเสนอเป็นเรื่องของอารมณ์ขันและการเสียดสี เขาฉลาดมากที่ให้พระเอกเรียนรามคำแหง แต่เรียนไม่จบเพราะติดวิชาภาษาอังกฤษ และพอเขากลับบ้านเขาก็จะโดนต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษเหมือนกันมาแย่งชิงเอาของรักของหวงซึ่งคือผู้หญิงในหมู่บ้านไปทีละคนสองคน เพราะ ฉะนั้นอุปสรรคของเขามันก็คือการใช้ภาษาอังกฤษ จนในที่สุดพระเอกก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างในตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ได้จมอยู่กับปัญหา ไม่ได้จมอยู่กับความทุกข์ คือเขาทำให้เห็นว่าการเข้าใจปัญหา และมองการแก้ไขปัญหาว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร และหยิบนำเอามาตอบโจทย์ มันก็เลยทำให้เป็นการนำเสนอที่ชัดเจน เขาก็เห็นภาพว่ามันเป็นยังไง ถ้ามีฝรั่งมาเอาผู้หญิงในหมู่บ้านเขาจะมายังไง บางคนก็มาจริง บางคนก็มาหลอก เพราะฉะนั้นเลยทำให้ความแข็งแรงของเรื่องมีอยู่มาก และที่สำคัญที่สุดคือความน่ารักของการเล่าเรื่องของเขา เขาจะสอดแทรกความน่ารักเข้าไป นอกเหนือจากเรื่องราวที่แข็งแรงแล้วยังมีรายละเอียดที่น่ารัก ตอนได้อ่านบทแล้วรู้สึก โอ้โห! เจ๋งจริงๆ คือนอกจากมีความใหม่ แล้วยังสามารถจะนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่น มาผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างๆ ให้เข้ากับเรื่อง ให้มันกลมกลืน ออกมาได้โดดเด่นมาก จุดนั้นทำให้คณะกรรมการเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัย ไม่มีใครยกมือแย้งเลย บางเรื่องอาจจะมี แต่เรื่องนี้ไม่มี มันดูเหมือนเป็นเรื่อง แต่ในความคิดความอ่านของคนเขียนมันใหม่ มันมีความสด สำคัญที่สุดคือหนังเรื่องนี้เป็นหนังอีกเรื่องที่แตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และที่สำคัญเลยคือความเป็น แบล็คคอมเมดี้ ก็เป็นหนังตลกที่มีความเสียดสีอยู่ คือไม่ได้ตลกด้วยไดอาล็อค มานั่งตลกกันหรือตลกกันด้วยท่าทาง คือมันเป็นความตลกที่อยู่ในเรื่องราว คือความแตกต่างทางวัมนธรรม ความแตกต่างทางภาษา แตกต่างทางความคิด อันนี้เป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้โดดเด่นมาก”
สู่ภาพยนตร์โรแมนติคคอมิดี้ตีแผ่รสนิยม “LOVE FARANG” ของเหล่า “อีนางเอ๊ย”
ที่พร้อมอ้าแขนรับ “เขยฝรั่ง” อย่างเต็มใจ โดย “เก่ง ชิโนเรศ คำวันดี”
ผู้กำกับที่บ่มเพาะประสบการณ์ในฐานะคนทำหนังนาน 13 ปี
โดยไม่มีใครคาดคิด จากความสำเร็จของ WHITE BUFFALO บทภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดจากปลายปากกาของ “สุมิตร เที่ยงตรงจิตร” กำลังจะถูกเปลี่ยนถ่ายชีวิตไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่าง จากตัวหนังสือบนกระดาษกำลังจะมีชีวิตโลดแล่นและเคลื่อนไหวในรูปแบบภาพยนตร์ที่มีภาพ เสียง และตัวละคร ถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มในอีก 3 ปีต่อมา โดยบริษัทสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์อันดับ1ของเมืองไทยอย่างสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมกับอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ผ่านเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้ายในโครงการไทยแลนด์สคริปต์โปรเจ็คต์ปีเดียวกันอย่างกะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว ถึงแม้ว่า WHITE BUFFALO (อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง) จะถูกสร้างเป็นเรื่องที่สองก็ตาม ภายใต้การกำกับภาพยนตร์โดย เก่ง ชิโนเรศ คำวันดี ผู้กำกับหนุ่มวัย38ปี ที่ผ่านการบ่มเพาะประสบการณ์ในฐานะคนทำหนังมากว่า 13 ปี มีส่วนร่วมสำคัญในภาพยนตร์ระดับคุณภาพที่สร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และต่าง ประเทศมากมาย อาทิ องค์บาก1-2, นางนาก, ฟ้าทะลายโจร, จันดารา, เดอะเลตเตอร์จดหมายรัก, แจ๋ว ฯลฯ ผ่านการทำงานในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, ยงยุทธ ทองกองทุน, ผอูน จันทรศิริ ฯลฯ
“พอดีจังหวะที่ได้มาอ่านเรื่อง “WHITE BUFFALO” ซึ่งเป็นบทที่ชนะเลิศ (BEST SCRIPT) ในโครงการ “ไทยแลนด์สคริปต์โปรเจ็คต์” ที่เขียนโดย “พี่สุมิตร เที่ยงตรงจิตต์” ซึ่งเป็นเพื่อนในโครงการเปิดประตูสู่โลกภาพยนตร์ ของบริษัท ฟูจิและไทเอนเตอร์เทนเมนท์ได้จัดอบรมเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้การผลิตภาพยนตร์ทุกขั้นตอนและผลิตภาพยนตร์สั้นขึ้นมา1เรื่องเมื่อสมัยเกือบ 20 ปีที่แล้วที่ผมเป็นผู้กำกับ พอได้อ่านครั้งแรกก็รู้สึกสนใจขึ้นมาทันทีเลย ตัวผมเองอยู่และโตมากับภาคอีสาน ตั้งแต่ขี่เกวียน ขี่วัว ขี่ควายไปเรียนหนังสือเลย พออ่านแล้วนึกถึงบรรยากาศ ทำให้มีจินตนาการภาพอยู่ในหัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสของเขยฝรั่งที่เข้ามาในเมืองไทย ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นชอบเมืองไทย รักเมืองไทย อาหารไทย จุดใหญ่เลยคือผมว่าตัวบทมันมีเสน่ห์มาก คือถ้าเราพูดถึงคนไทยส่วนใหญ่ชีวิตทั่วไปเราจะอยู่กรุงเทพกันซะมากกว่า เรามีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดเมื่อเดินทางไปพักผ่อน เราจะรู้ว่าต่างจังหวัดมีเสน่ห์มาก จะรู้สึกว่าเหมือนอยู่อีกที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ยิ่งถ้าใครได้ไปลงลึกๆ ถึงภาคอีสานจริงๆ จะรู้สึกว่ามีเสน่ห์มากๆ คนน่ารัก สถานที่สวยงาม วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ภาษา พวกนี้สำคัญที่สุด ซึ่งในตัวบทสะท้อนถึงเสน่ห์เหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวของมันเองได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น บอกได้เลยว่าเราแทบไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเลย เพราะว่าบทมันมาดีอยู่แล้ว ภาพของคนอีสานจริงๆ ที่อยู่ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ที่อยู่มาวันหนึ่งมีวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาในหมู่บ้าน เป็นอีสานที่เป็นอีสานจริงๆ ไม่ใช่อีสานย้อนยุค ไม่ใช่อีสานที่ไปข้างหน้า อีสานอย่างที่ตาเราเห็น เห็นผู้หญิงอีสานขับฟีโน่ แต่ก็ยังเห็นควายไถนาอยู่ มีรถไถนาอยู่ ยังกินข้าวเหนียวกันอยู่ บางคนทำผมแดงย้อยลงมาเป็นเด็กแว้นท์เด็กสก๊อยท์เลย แต่ก็ยังพูดอีสาน แล้วพอมีฝรั่งเข้ามาจะเป็นอย่างไร แสดงว่าฝรั่งพวกนี้ต้องเห็นเสน่ห์อะไรในอีสาน เราไปสัมภาษณ์ ไปรีเสิร์ชฝรั่งในเมืองไทยอย่างพี่จิมส์ที่เขาแฮปปี้กับเมืองไทยมากๆ หรืออย่างบางคนเราจะพบว่าโอโห้ เขารักแล้วก็เทิดทูนในหลวงเรามาก เขามีมุมที่ดีของประเทศไทยเรามาก ผมว่าอะไรพวกนี้มันมีเสน่ห์นะ มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วยส่วนหนึ่ง ก็อยากจะลองจับตรงนี้มาทำ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่การทำภาพยนตร์”
ด้วยเสน่ห์ของเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นของตัวละครที่ถูกผสมผสานนำเสนอกันได้อย่างกลมกลืนลงตัวผ่านมุมมองในวัฒนธรรมความเป็นอีสาน ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวอีสานรุ่นใหม่ กับมุมมองความคิดความขัดแย้งของวัฒนธรรมต่างถิ่นที่ส่งผลกระทบต่อตัวละครที่สะท้อนถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน และการสอดแทรกแนวคิดความพอเพียงของในหลวงท่านผ่านรูปแบบแนวทางของภาพยนตร์โรแมนติคคอมมิดี้เสียดสีสังคมที่ไม่ได้อาร์ทจ๋าหรือต้องผ่านการตีความหลายซับหลายซ้อนจนถึงขั้นต้องก่ายหน้าผากหรือปีนบันไดดู แต่ก็สามารถทำให้ผู้ชมไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนวัยใดสามารถสัมผัสถึงอรรถรสของภาพยนตร์และเนื้อหาสาระที่ตัว สุมิตร เที่ยงตรงจิตร” ผู้เขียนบทและ เก่ง ชิโนเรศ คำวันดี ผู้กำกับต้องการนำเสนอออกมาได้อย่างสนุกสนาน และเบิกบานไปด้วยรอยยิ้มและแง่คิดที่สอดแทรกมาตามความตั้งใจ
“อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่งเป็นเรื่องเกี่ยวไอ้หนุ่มคนหนึ่งชื่อ มาร์ค เป็นพระเอกของเรื่อง (รับบทโดยรอน AF) มีความใฝ่ฝันว่าจะเรียนหนังสือให้จบปริญญาตรี แล้วกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน ก็ได้มีโอกาสเข้ามาในกรุงเทพ ก็เข้ามาเรียนราม โดยมีพ่อที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน (รับบทโดยปิยะ ตระกูลราษฎร์) ส่งวัว ขายควายให้มาเรียน แต่เรียนไปสัก 6 ปีก็ยังไม่จบ ติดอยู่วิชาเดียวคือภาษาอังกฤษ จนวันหนึ่งรู้สึกท้อใจขึ้นมา ไม่ใช่ว่าไม่ตั้งใจเรียนนะ เขาเป็นคนที่ตั้งใจเรียนมากๆ แต่มีจุดอ่อนเรื่องภาษา ทำให้เรียนไม่จบสักที กระทั่งวันหนึ่งได้รับจดหมายจากเพื่อนเขาที่บ้านเกิดซึ่งเคยเรียนอยู่และโตมาด้วยกันว่ากำลังจะแต่งงาน มาร์คก็เลยเดินทางกลับไปร่วมงาน พอมาถึงก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านหลังจากที่จากไปหลายปี ทั้งในด้านของสิ่งก่อสร้าง ถนนหนทาง มีบ้านใหญ่ๆ ร่ำรวย หรูหราผุดขึ้นมา มีรถกระบะ มีรถเก๋ง วิ่งกันเต็มเมือง แต่สิ่งที่สะดุดที่สุดคือ มีฝรั่งเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเต็มเลย แล้วพวกผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นคุณป้าเล็ก ป้าแดง ป้าแอ๋ว ที่เคยอยู่รอบๆ ตัว หรือว่าน้องโน้น น้องนี่ที่เคยเห็นกันตั้งแต่เล็กๆ หันไปมีแฟนเป็นฝรั่งกันหมดเลย สาวๆ คลั่งไคล้นิยมการมีแฟนเป็นฝรั่ง ส่วนหนุ่มๆ ในหมู่บ้านก็ตกกระป๋องไป ตรงนี้คือสิ่งที่มาร์คเห็น และที่สำคัญ แม้แต่แววดาว (รับบทโดยเปรี้ยว AF) ผู้หญิงที่มาร์คเคยชอบเคยปิ๊งตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม กำลังจะถูกฝรั่งมาขอเพื่อจะเอาไปแต่งงานด้วย หรือขนาดพี่ทิดสุบรรณ (รับบทโดยเหลือเฟือ) เพื่อนรุ่นพี่ในกลุ่มของเขาที่เคยเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ เมีย (รับบทโดยเปิลชไมพร) ของเขาก็กำลังจะถูกฝรั่งเอาไปอยู่ต่างประเทศ ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้การละ ก็เลยคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไร เพื่อจะดึง เพื่อจะกอบกู้วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กลับมาสู่สภาวะปกติเหมือนเดิม ด้วยการลุกขึ้นมาพิสูจน์ว่าหนุ่มอีสานก็มีดี ไม่ใช่ว่าวันๆ ได้แต่กินเหล้า เล่นการพนันหรือเจ้าชู้เหมือนอย่างที่สาวๆ เข้าใจ”
บทยอดเยี่ยมระดับรางวัล ผู้กำกับภาพระดับ Best of Asia
และ โปรดักชั่นดีไซเนอร์มือ1ของเมืองไทย ผนึกกำลังร่วมถ่ายทอดภาพชีวิต
ผู้คน เสน่ห์ ความงาม รอยยิ้ม และความโรแมนติค ของ “อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง”
ทุกการเดินทางล้วนมีเป้าหมาย แต่ใช่ว่าทุกเป้าหมายแห่งการเดินทางจะไร้ซึ่งอุปสรรค อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละขวากหนาม รวมไปถึงเงื่อนไขของเวลาและประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางอันนำไปสู่ปลายทางแห่งฝันของการเกิดภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับแต่ละคน ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดตัวเนื้องานที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา แต่สำหรับเวลา 13 ปีบนเส้นทางชีวิตในฐานะคนทำหนังของเก่ง ชิโนเรศ คำวันดี ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นฐานกำลังสำคัญที่ทำให้งานสร้างจองภาพยนตร์เรื่อง “อีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง” ออกมาได้อย่างลงตัว เริ่มตั้งแต่บทภาพยนตร์ซึ่งเปรียบได้กับวัตถุดิบชิ้นเลิศ เมื่อผนวกกับการรวมตัวกันของเหล่าคนทำหนังระดับหัวกะทิในแขนงต่างๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างณัฐวุฒิ กิติติคุณ ผู้กำกับภาพที่ผ่านประสบการณ์ในการถ่ายทอดความงดงามทางด้านภาพและสื่อความหมายของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ในภาพยนตร์ไทยที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกมานับไม่ถ้วนอย่าง นางนาก, จันดารา, โหมโรง, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, องค์บาก1-2-3, ต้มยำกุ้ง รับหน้าที่กำกับและถ่ายทอดภาพบรรยากาศของทุ่งนาชีวิตผู้คนที่เรียบง่ายสวยงามภายใต้ความรักอันใสซื่อของหนุ่มสาวอีสานท่ามกลางความขัดแย้ง และกระแสการไล่บ่าของวัฒนธรรมต่างถิ่นอย่างเขยฝรั่ง รวมไปถึงการได้ เอก เอี่ยมชื่น ผู้ออกแบบและดูแลงานสร้างมือ1ที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์อย่าง 2499 อันธพาลครองเมือง, นางนาก, จันดารา, ปืนใหญ่จอมสลัด ฯลฯ มาเป็นที่ปรึกษาดูแลงานสร้าง รวมไปถึงการออกตะลุยในแต่ละจังหวัดของภาคอีสานเพื่อร่วมเสาะหาโลเกชั่นหลักที่จะใช้ในการทำภาพยนตร์ซึ่งแน่นอนว่าองค์ประกอบเหล่านี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นกับหนังเรื่องแรกในชีวิตของผู้กำกับทุกคนหรือเกิดขึ้นกับหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ
“นอกจากบทหนังระดับรางวัลชนะเลิศของไทยแลนด์สคริปต์โปรเจ็คต์แล้ว ในส่วนของการเตรียมงานสร้างให้ตัวหนังสือกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว ให้ทุกตัวละครมีชีวิต ต้องบอกว่าผมค่อนข้างโชคดีมากๆ ที่มีพี่ๆ คนทำหนังระดับหัวกะทิ ที่น่ารักมากๆ มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นน้ากล้วย ณัฐวุฒิ กิตติคุณ ผู้กำกับภาพระดับเบสท์ออฟเอเซีย จากเรื่อง นางนาก, ฟ้าทะลายโจร, นเรศวร ให้เกียรติมาถ่ายเรื่องนี้ออกมาตรงตามความตั้งใจของผมที่ต้องการถ่ายทอดมุมภาพความเป็นอีสานออกมาให้สมจริงและเรียลลิสติกที่สุด รวมทั้งพี่เอก เอี่ยมชื่น ที่มาช่วยเป็นที่ปรึกษาทั้งในส่วนของการออกแบบงานสร้างของภาพยนตร์ตลอดจนออกตระเวนหาโลเกชั่นต่างๆ ที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ร่วมกันโดยตัวผมเองออกตระเวนไปทั้งขอนแก่น, อุดร ขณะที่พี่เอกไปร้อยเอ็ด ยโสธร อุบล เพื่อให้ภาพของเถียงนา ที่รายล้อมด้วยทุ่งข้าวสีทองแล้วมีต้นยาง, ไร่อ้อย, วัดวาอาราม, บ่อน้ำที่หนุ่มสาวอีสานหยอกเย้ากัน รวมไปถึงถนนหนทางในหมู่บ้านที่แต่ละตัวละครมาเกี่ยวข้องกันให้ปรากฎขึ้นซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ “เขยฝรั่ง” พากันหลงใหล และผูกผันในความงามของผู้คนและท้องถิ่นอีสาน ทำให้ผมได้ภาพนาอีสานในฝันที่ผมเคยได้เห็นในสมัยเด็กๆ ภาพเถียงนาที่มันอยู่กลางนารายล้อมด้วยทุ่งข้าวสีทองแล้วมีต้นยางซึ่งนี่คือคาแร็กเตอร์ของนาในภาคอีสานที่ต่างจากนาของภาคกลาง เถียงนาที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ที่พระเอกสามารถปลีกตัวมาอยู่ที่นี่ได้ เห็นบ้านนางเอกอยู่ใกล้ๆ ในสายตา หรือ Direction ของบ่อน้ำประปาหมู่บ้าน ที่เป็นบ่อน้ำจริงๆ ความเจริญของแทงค์น้ำประปาหมู่บ้านที่มาอยู่ด้วย รวมทั้งวัด ในอีสานจะมีของโบราณที่เรียกว่าสิม เป็นคล้ายๆ โบสถ์เก่าซึ่งมีอายุเป็นร้อยๆ ปี เป็นโบสถ์เล็กๆ มีภาพเขียนอยู่ และในหนังเรื่องอีนางเอ๊ย...เขยฝรั่ง เราก็ได้ถ่ายทำในวัดซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับอำเภอธวัชจ.ร้อยเอ็ด ซึ่งขึ้นป้ายไว้เลยครับว่าเป็น Unseen ของจังหวัดด้วย แล้วก็มีสิงห์โบราณที่ได้รับการอนุรักษ์จากกรมศิลปากร ที่เราขออนุญาตทางวัดมาเพื่อถ่ายในช่วงเส้นเรื่องของพ่อแม่พระเอกที่สมัยยังเป็นวัยรุ่นด้วย"