3 หน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน จับมือ สสส. เปิดตัวเครื่องมือจำแนก บำบัด ติดตามเด็กก้าวพลาดใหม่ หวังดึงครอบครัว ชุมชน ช่วย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 20, 2011 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--โฟร์ฮันเดรท “ตะลึงเด็กม.5เผารร.มหิดลฯ” “วิกฤติเด็กไทยเกือบ 2 ล้านคน เล่นการพนัน เล่นหวย” “แก๊งลัก จยย.ระบาดจับรวดเดียว 3 คดี ผงะเด็ก 12 ตระเวนขโมยรถ” พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับผู้อ่านในแต่ละเช้าได้ไม่เว้นวันและเกิดคำถามในใจว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคม และครอบครัว!!! จากสถิติคดีของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพบว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนไทยที่กระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจาก 30,668 คดีในปี 2540 เป็น 51,128 คดีในปี 2550 หรือคิดเป็นเป็นร้อยละ 41.3 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการกระทำผิดซ้ำ ร้อยละ13 นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในฐานะประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เปิดเผยว่า นอกจากนี้แนวโน้มเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดการกระทำผิดยังมีความซับซ้อนและความรุนแรงมากขึ้นทั้งในสังคมโลกและสังคมไทย จากสถิติคดีของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพบว่า เด็กและเยาวชนก้าวพลาดกระทำผิดในคดีลักทรัพย์มากที่สุดร้อยละ 28.88 รองลงมาคือ คดียาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 20.11 และคดีเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงต่อชีวิต ร่างกายร้อยละ 15.22 จากการศึกษาถึงสาเหตุการกระทำความผิดเกิดจากการคบเพื่อนร้อยละ 38.3 คึกคะนองร้อยละ14.92 รู้เท่าไม่ถึงการณ์ร้อยละ 11.95 เศรษฐกิจร้อยละ 6.87 สภาพครอบครัวร้อยละ 5.65 ทะเลาะวิวาทร้อยละ 4.69 ถูกชักจูงหรือถูกบังคับร้อยละ 3.97 ป่วยทางจิตร้อยละ 0.13 และอื่น ๆ ร้อยละ 13.51 เนื่องจากจากกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในชั้นกระบวนการพิจารณาของศาลให้คำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ และในกรณีที่ได้มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ต่อเมื่อได้รับทราบรายงานและความเห็นจากผู้อำนวยการสถานพินิจเสียก่อน แต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการพัฒนาเครื่องมือจำแนกถึงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยจำเป็นที่ทำทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กกระทำผิดที่แท้จริงได้ จึงส่งผลให้ไม่สามารถจำแนกประเภทเด็กและเยาวชนในระหว่างการควบคุมได้อย่างเหมาะสมและยังทำให้การจัดทำแผนบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนไม่ตรงตามเหตุปัจจัยที่แท้จริง และที่สำคัญแผนการติดตามช่วยเหลือหลังจากที่เด็กและเยาวชนพ้นจากคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแล้วก็ยังขาดความชัดเจน รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนเป็นกระบวนการที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางหลายหน่วยงาน ฉะนั้น การปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานจึงมีความจำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกัน รู้บทบาทหน้าที่และมีความชัดเจนที่จะสามารถรับและส่งต่องานกันอย่างเป็นระบบ มิเช่นนั้นแทนที่เป็นการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่เด็กและเยาวชนมากขึ้นก็ได้ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจึงได้ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมโดยสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ และกรมคุมประพฤติ จัดทำ “โครงการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ขึ้นแต่เนื่องจากโครงการนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยดังกล่าว การจะใช้งบประมาณขององค์กรใดองค์กรหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่สามารถจัดทำได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) เห็นว่าโครงการนี้เป็นคานงัดที่สำคัญของการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนจึงให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553 - 2555 อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวต่อไปอีกว่า หัวใจของโครงการนี้อยู่ที่การพัฒนาระบบการดูแลเด็กและเยาวชนภายหลังจากได้รับตัวให้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วโดยจะมีกระบวนการหลักอยู่ 3 กระบวนการคือ 1.กระบวนการจำแนกประเภทเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการจำแนกหาปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยจำเป็นสาเหตุแห่งการกระทำความผิด เพื่อเสนอรายงานและพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อศาล ทำให้สามารถวางแผนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเป็นรายบุคคลได้อย่างเหมาะสม 2. กระบวนการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูเด็กและเยาวชน เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกระทำความผิดโดยมุ่งหวังให้เยาวชนกลับตนเป็นคนดีและได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ที่คำนึงถึงความต้องการ ความจำเป็น และปัญหาของเด็กแต่ละคน โดยควรครอบคลุมถึงด้านสุขภาพกาย ใจ การปรับตัวทางสังคมและความเป็นอยู่ที่ดี โดยใช้กระบวนการปรับความคิด และการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัย 3.กระบวนการติดตามเด็กและเยาวชนหลังปล่อยตัว เป็นกระบวนการติดตามเพื่อการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนภายหลังปล่อยตัวจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหรือการคุมประพฤติ เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ โครงการนี้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ออกแบบ และพัฒนาระบบ การประเมินคัดกรอง จำแนก และส่งต่อระบบการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และระบบการติดตามดูแลเด็กและเยาวชนรายบุคคลภายหลังการปล่อยตัว ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและถือว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถจำแนกปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยจำเป็นถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดกระทำความผิดเครื่องมือแรกของประเทศไทยที่ผ่านการทดสอบหาค่าความเชื่อมั่น ความเที่ยงตรง และความไวในการจำแนกโดยผ่านการให้คำแนะนำปรึกษาของนักพัฒนาโปรแกรมระดับนานาชาติ และคาดว่าส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระหว่างประเทศต่อไป ในระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการทดลองระบบทั้ง 3 ในพื้นที่นำร่องโดยจะลงในพื้นที่ในเดือนพฤษภาคมจนถึงธันวาคม ศกนี้ จำนวน 3 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี และศรีสะเกษ และในระยะที่ 3 การขยายผลเชิงระบบในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “ความร่วมมือครั้งนี้ จะได้เครื่องมือกลางที่ช่วยให้การคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟูและติดตามเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดที่ชัดเจนรอบด้านยิ่งขึ้น และป้องกันไม่ให้เด็กหวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีกหรือมีแนวโน้มที่ลดลง โดยจะเป็นเครื่องมือเดียวที่ทุกหน่วยงานได้ใช้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูและติดตามผลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นและสำเร็จได้จากการสนับสนุนสำคัญของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางกรรณิการ์ แสงทอง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมากรมคุมประพฤติเอง รับผิดชอบในการดูแลเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดซึ่งมีคำสั่งศาลให้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมฯ จากนั้นกรมฯก็จะมีเครื่องมือในการจำแนก อีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นงานที่ซ้ำซ้อน เพราะเด็กคนเดียวกันนี้ได้ผ่านกระบวนการจำแนกเบื้องต้นจากกรมพินิจในขั้นตอนก่อนส่งดำเนินคดีในชั้นศาลแล้ว ดังนั้นการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวกรมคุมประพฤติจึงมีคณะทำงานร่วมอยู่ใน 2 ชุดคือ ชุดบำบัดฟื้นฟู และชุดติดตามผล ซึ่งเป็นส่วนที่กรมคุมประพฤติรับผิดชอบในการบำบัดฟื้นฟู และส่งคืนเด็กสู่ครอบครัวและสังคม เราคาดหวังว่าเครื่องมือใหม่นี้จะเป็นมาตรฐานในการทำงานด้านยุติธรรมเด็กที่อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน ทุกหน่วยงานทำงานประสานสอดรับกันอย่างเป็นระบบ ภายใต้วัตถุประสงค์เป้าหมายเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ Case Manager หรือนักจัดการรายคดี ที่จะเข้ามาช่วยจำแนก วิเคราะห์ บำบัดและส่งคืนเด็กสู่ครอบครัวและชุมชนจะทำได้สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวโดยในขณะนี้กรมคุมประพฤติมีอาสาสมัครคุมประพฤติ กว่า 10,000 คน และเครือข่ายทำงานในระดับชุมชนในการเฝ้าระวัง ร่วมเป็นเครือข่ายของกรมฯอีกกว่า 30,000 คนทั่วประเทศเพื่อให้การทำงานมวลชนในการเฝ้าระวังและป้องปรามติดตามกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงในการกระทำความผิดหรืออาจหวนกระทำผิดซ้ำ และได้เริ่มซักซ้อมความเข้าใจในเครื่องมือใหม่ที่จะมีการนำไปใช้ในพื้นที่นำร่อง แก่บุคลากรภายในกรมฯเบื้องต้นแล้ว ส่วน ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ในฐานะตัวแทนจากสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า “สถาบันวิจัยรพีพัฒนาศักดิ์ได้จัดทำโครงการวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องเยาวชน สตรี และครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการนี้นั้นการทำงานในช่วงปีแรกมีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ การสำรวจการดำเนินการของศาลเยาวชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเชิงเอกสาร เชิงการออกแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการศึกษาดูงาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและความรอบด้านในการพัฒนาให้เครื่องมือใหม่นี้สามารถตอบโจทย์การ จำแนก บำบัด ฟื้นฟูและติดตาม เด็กและเยาวชนให้ได้ความละเอียดที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูในลักษณะต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความจำเป็นของเด็ก รวมถึงพยายามอุดช่องว่างที่มีอยู่ในระบบ โดยเฉพาะเรื่องของการขาดการเชื่อมต่อของข้อมูล และการพัฒนาการทำงานอย่างร่วมกันให้มากขึ้น” “โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมจะต้องสร้างความสมดุลอย่างรอบด้าน ทั้งประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด และการคุ้มครองผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายมิใช่แค่ตัวผู้ถูกกระทำโดยตรง แต่หมายรวมถึงครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชุมชนและสังคมโดยรวมด้วย ซึ่งทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในที่สุด และจะต้องสร้างเป็นมาตรฐานการทำงานด้านยุติธรรมในคราวเดียวกันด้วย” ดร.สุนทรียากล่าว นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “สสส.นั้นมีเจตนามุ่งให้คนไทยมีสุขภาวะยั่งยืนและมีสุขภาพที่ดีใน 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญา รวมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์ของสังคมไทยให้เป็น “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” ซึ่งกรอบของโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ สสส. ที่มีเป้าหมายหนึ่งที่ต้องการให้เด็ก และเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต แม้ว่าจำนวนของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกลุ่มอายุเดียวกันจะมีสัดส่วนต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันช่วยในการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” “สำหรับโครงการนี้ จึงเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน กับ สสส. โดยมุ่งหวังที่จะให้มีมาตรการในการพิทักษ์ปกป้อง คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน และบำบัดแก้ไข ฟื้นฟู ป้องกัน และพัฒนาเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถแก้ไขและลดปัญหาการกระทำผิด การกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนให้ลดลงได้ในที่สุด” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวกล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง (คุณแป๋ง) โทร. 02-553-3161-3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ