ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสแรกลดลง แต่มีมุมมองเป็นบวกต่ออนาคตธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2011 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจในไตรมาสแรกลดลง จากราคาน้ำมัน ภัยพิบัติในญี่ปุ่น และน้ำท่วมในภาคใต้ แต่ดัชนีความเชื่อมั่นยังสูงกว่าระดับปกติติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 และดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าสูงกว่าดัชนีในปัจจุบัน เหตุนักธุรกิจเชื่อปัจจัยลบเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง นางพัชรศิริ เกียรติกำจาย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงผลการจัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย หรือ Krung Thai Business Index (KTBI) ซึ่งเป็นดัชนีจากการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในทุกประเภทธุรกิจ ทุกขนาด และทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,000 ราย พบว่าดัชนี KTBI ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ที่สำรวจในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 52.51 ลดลงจากระดับ 55.69 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากเหตุจลาจลในลิเบียที่รุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น และน้ำท่วมในภาคใต้ของไทย ที่ทำให้วิตกว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิต กำลังซื้อ และต่อเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นยังคงอยู่สูงกว่าระดับปกติ (ระดับ 50) ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 สะท้อนว่านักธุรกิจยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจที่มีต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังคงสูงกว่าค่าความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่านักธุรกิจมีมุมมองที่ดีต่อภาวะธุรกิจในอนาคต นางพัชรศิริ เกียรติกำจาย เปิดเผยต่อไปว่า นักธุรกิจมีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่ฉุดความเชื่อมั่นในไตรมาสนี้ลดลงเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น ซึ่งหากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่และรวดเร็ว ตลอดจนให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น จะช่วยให้นักธุรกิจคลายความวิตกลง และความเชื่อมั่นจะสามารถกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่ง จากการที่ภาวะตลาดในประเทศขยายตัวดีตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มเกษตรกร แรงงาน และข้าราชการ ส่วนการส่งออกมีการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าหลายประเภทไปทดแทนสินค้าออกของญี่ปุ่นได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ โทร.0-2208-4174-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ