กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
สถาบันเงินฝากย้ำคุ้มครองเฉพาะ “เงินฝาก” ตั๋วบีอี-กองทุนพันธบัตร-หุ้นกู้ไม่เกี่ยว พร้อมเตรียมออกตราสัญลักษณ์กำกับโปรดักท์ทางการเงินตัวไหนได้รับการคุ้มครอง เพื่อป้องกันความสับสน
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าในช่วงนี้เราจะพบว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้แข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากมากมายประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ฝากเงินที่หลากหลาย จึงมีผู้สนใจสอบถามว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
โดยกฎหมายการคุ้มครองเงินฝาก จะครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็น “เงินฝาก” เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็น เงินบาท ซึ่งผู้ฝากเงินสามารถสังเกตได้จากคำว่า “ฝาก” ซึ่งจะต้องมีแสดงในชื่อของผลิตภัณฑ์ที่เป็นเงินฝากด้วย หรือสามารถสอบถามจากผู้นำเสนอให้เข้าใจชัดเจนก่อน
แต่ทั้งนี้ มีเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน อาทิ บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ได้อยู่ในความคุ้มครอง
นอกจากนี้ สำหรับเงินลงทุนในกองทุนพันธบัตรต่างๆ กองทุนRMFและLTF หุ้นกู้ธนาคาร หุ้นกู้บริษัทเอกชน ตั๋วบีอี สลากออมทรัพย์ นั้นไม่ถือว่าเป็นเงินฝากจึงไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางสถาบันฯ จะได้กำหนดให้มีการนำตราสัญลักษณ์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือแสดงข้อความเพื่อบอกกล่าวอย่างชัดเจนบนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อสร้างความชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ใดได้รับความคุ้มครองจากสถาบันฯ
นายสิงหะยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยากฝากผู้ฝากเงินทุกท่านสำหรับผู้ที่กำลังหาทางเลือกในการลงทุนต่างๆ คือความเสี่ยงกับผลตอบแทนนั้นมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน คือ การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมีระดับความเสี่ยงที่สูง (High Risk-High Return) การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามักจะมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่า (Low Risk-Low Return) แต่สิ่งที่ต้องตระหนักอีกอย่างก็คือ ถึงแม้ว่าการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมีระดับความเสี่ยงที่สูง แต่ไม่จำเป็นว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจะให้ผลตอบแทนที่สูงเสมอไป ดังนั้นก่อนจะลงทุนใดๆ ต้องพิจารณาให้ดีและมีความรอบคอบในการเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดที่แท้จริงตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดต่างๆของสถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถติดตามได้ทาง www.dpa.or.th หรือ 02-272-0300