กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--สถาบันเทคโนโลยีสยาม
ยุคทองของเอเซียมาแล้ว...อีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก้าวสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community : AEC ) ในปี 2558 เพื่อการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะอย่างอิสระ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญของอาเซียน ทั้งประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนฯ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ต่างต้องเตรียมรับมือและรองรับกับการเติบโตและความท้าทายในครั้งนี้
สถาบันเทคโนโลยีสยามได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการสถาบันฯ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียน ให้เป็นผู้ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาและประกอบวิชาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีวศึกษาสากล และยุทธศาสตร์สมรรถนะ WISE Model ด้านสมรรถนะภาษาอังกฤษและการสื่อสาร (English and Language Skills) และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและวิชาชีพในยุคปัจจุบัน
ดังนั้นทางสถาบันเทคโนโลยีสยาม โดยศูนย์ภาษาต่างประเทศ ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาการเรียนด้านภาษา และจัด‘โครงการทดสอบความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษวิชาชีพ (Vocational English Proficiency Examination -VEPE)’ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพทางอังกฤษตามสาขางานที่เรียน และสามารถวัดประเมินผลความรู้ทางภาษาอังกฤษ ทั้งด้านการฟัง การสนทนา การอ่าน และการเขียน โดยผู้เรียนจะได้รับผลการประเมินรายบุคคลและประกาศนียบัตรรับรองจากสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อผู้เรียนสามารถนำไปเป็นประโยชน์ในการพัฒนาด้านภาษาเพื่อวิชาชีพ ตลอดจนการศึกษา หรือประกอบอาชีพต่อไป
“เป็นความจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งผู้ได้เปรียบเชิงการแข่งขันคือผู้ที่มีความพร้อมเท่านั้น การเคลื่อนย้ายทั้งภาคธุรกิจ สังคม กำลังคนนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษาเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการศึกษาจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ ภาษา และวัฒนธรรมระหว่างกัน จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับโอกาสสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ...ดังนั้น ‘ภาษาอังกฤษ’ ซึ่งเป็นภาษาทางการของประชาคมเศรษฐกิจจึงมีบทบาทสำคัญ โดยทางสถาบันได้พัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาเป็นภาษาอังกฤษและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มุ่งมั่นจะพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการสื่อสาร ทั้งด้านการฟัง การอ่าน การเขียน และการสนทนา ที่จะสามารถนำไปใช้ในการทำงาน ศึกษาต่อ หรือใช้ในชีวิตประจำวันก็สามารถที่จะใช้ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างกลยุทธ์เสริมสร้างสมรรถนะ ‘WISE’ โมเดลเพื่อการศึกษายุคใหม่ของสถาบันเทคโนโลยีสยาม ที่ได้นำร่องมาแล้ว 2 ปี และในปี 2554 จากนี้ไปจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนและวัดผลการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีประสิทธิภาพสูง พร้อมกับการส่งเสริมการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาไทยได้แสดงความสามารถในเวทีระดับนานาชาติ ” ผศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช กล่าว
กิจกรรมโครงการทดสอบความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษวิชาชีพครั้งนี้ น้องๆ นักศึกษาระดับปวช.3 และปวส.2 ต่างแสดงความสามารถกันอย่างเต็มที่ ทั้งทักษะการฟัง การใช้ไวยากรณ์ การอ่านศัพท์ รวมไปถึงการพูด การสัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่ทั้งชาวไทยและต่างประเทศของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย บี-สุดาทิพย์ พึ่งแสงจันทร์ ปวส.2 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เล่าว่า- - “ทุกวันนี้ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากค่ะ ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง และโดยเฉพาะการเล่นอินเตอร์เน็ตต้องใช้เป็นอย่างมาก ทั้งในการเรียนทางด้านคอมฯ ก็ต้องใช้ การออกแบบ การทำโปรแกรม การเขียนโค้ด ซึ่งตรงนี้เราได้จากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของที่นี่สอนดี จะเน้น และเข้มข้นมาก เวลาเรียนเราตั้งใจฟัง ทำให้เราเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น ...การทดสอบในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก โต้ตอบได้ ทำได้ รู้สึกพอใจค่ะ สำหรับการที่จะฝึกภาษาอังกฤษ ก็จะท่องวันละ 4 ประโยคมาตั้งแต่เด็กๆ ก็ทำให้คุ้นเคย และฝึกดู UBC หนังฝรั่งบ้าง ก็ช่วยได้นะคะ” บุรินทร์ รามนันท์ ปวช.3 สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง บอกว่า แม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่ได้ชอบเล่นอินเตอร์แช็ทกับเพื่อนๆ โดยใช้เวลานั้นมาเสริมสร้างประโยชน์ให้กับสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกายดีกว่า “ผมชอบเล่นฟุตบอลครับ ได้ออกกำลังกายได้เหงื่อดี...ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ที่มาเลือกเรียนทางด้านนี้ เพราะมีเพื่อนแนะนำก็เลยมาเรียน เมื่อมาเรียนเราก็ต้องฝึกฝนในวิชาชีพของเรา แล้วภาษาอังกฤษกับเด็กอาชีวะต้องควบคู่กันไปด้วยนะครับ ทั้งฝีมือทั้งภาษาก็ต้องได้ ด้วยโลกสมัยนี้ก้าวหน้าไปมาก ต้องเจอกับลูกค้าต่างประเทศ ภาษาอังกฤษจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานยุคนี้ ...วันนี้ทดสอบทำได้ครับ เขาถามชื่อ-ประวัติ ทำไมมาเรียนที่นี่ งานอดิเรกทำอะไร ประมาณนี้แหละครับ” จิรายุ โพธิ์ไพโรจน์ ปวช.3 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คุ้นเคยภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะจบมาจากโรงเรียนสองภาษา จึงมีสำเนียงการพูดค่อนข้างดี ทั้งกล้าและไม่กลัวที่จะติดต่อกับชาวต่างชาติ เขาเล่าว่า- - “สบายมากครับ ผมพอพูดได้อยู่แล้ว เคยเรียนมาแล้วตอนเด็กๆ ครับ แล้วเขาถามเรื่องง่ายๆ ทั่วไป เช่น ชื่ออะไร งานอดิเรกทำอะไรบ้าง จบแล้วจะไปทำงานอะไร แบบนี้ล่ะครับ ...ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นในยุคสมัยนี้มากครับ หากใครพูดได้ก็ได้เปรียบในการแข่งขันในการทำงานครับ” ยุ้ย-ศิริรัตน์ ธงไสว ปวส.2 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เล่าว่าหลงรักภาษาอังกฤษจนหมดใจแล้ว “ชอบภาษาอังกฤษมากค่ะ เหมือนท้าทายดี คือคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีพี่สาวเรียนทางด้านภาษา เขาชอบมาพูดมาคุยกับเราเป็นภาษาอังกฤษ เลยทำให้สนใจทางด้านภาษาค่ะ ...แล้วพอมาเรียนที่นี่ มีครูชาวต่างชาติมาสอน เราก็ได้อะไรเยอะ ทั้งมีโครงการภาษาอังกฤษ มีการพรีเซ้นต์ภาษาอังกฤษหน้าห้อง ก็เลยรู้สึกสนุกและชอบมากๆ ...และวันนี้สนุกมากค่ะ ครูที่เขาทดสอบเรา เฟรนด์ลี่ดีค่ะ เขาคุยสนุก เราก็คุยโต้ตอบสนุกเลยค่ะ นี่เลยคิดว่าเมื่อจบแล้ว อาจจะไปต่อทางด้านภาษาภาคอินเตอร์เลยค่ะ” ชัยพร โสตถิธรรมรักษ์ ปวช.3 สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง บอกว่า- - “ผมจบมาจากโรงเรียนสองภาษา ก็เลยคุ้นเคย ตอนนั้นท่องศัพท์เยอะมาก แต่ศัพท์ทางช่างจะแตกต่างกับศัพท์ทั่วไป ...พอจบจากที่โรงเรียนนั้นมา พ่อก็ให้มาสมัครที่นี่ เพราะเป็นโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุด ผมเลยมาเรียนทางสาขาไฟฟ้า ก็สนุกดีครับ เป็นทั้งทางช่างและได้ภาษาอังกฤษด้วย ...ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นในโลกสมัยนี้ เพราะต้องใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติ ทั้งการทำงานและการใช้ในชีวิตประจำวัน แล้ววันนี้เราก็สามารถโต้ตอบได้ เขาจะถามว่าชื่ออะไร มีจุดเด่นอะไร ผมก็ตอบไปว่าเราตัวสูง คุยสนุก ก็ตอบไปแบบนี้ครับ”
ภาษามีความสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ ด้วยการติดต่อสื่อสารสู่ยุคไร้พรมแดน ฉะนั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งความรู้และความสามารถ เพื่อรับมือกับการแข่งขันในโลกแห่งอนาคต และพร้อมที่จะก้าวสู่เวทีในระดับนานาชาติได้อย่างมั่นใจ.
เผยแพร่ข่าวในนาม : สถาบันเทคโนโลยีสยาม