กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ในปี ๒๕๔๘ นี้วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ตั้งสัจจะอธิฐานว่า เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา เราจะประพฤติปฎิบัติตามพระธรรม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป เพื่อให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าและนำมาซึ่งความสงบสุข
อาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เนื่องในวันที่ พระพุทธเจ้าทรงประกาศ พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือ ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ทำให้เกิดสาวกองค์แรกในโลกและพระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้น พระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะได้ครบสมบูรณ์แล้วก่อนปีพุทธศักราช ๔๕ ปี
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือ พระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของโลก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมืองพาราณสี พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้สรุปได้ว่า บรรพชิตไม่ควรประพฤติที่สุด ๒ อย่าง คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นมัวเราอยู่ในกามสุข ถือว่าจะดับทุกข์ได้ด้วยการบริโภคกาม ให้เต็มเปี่ยม เป็นการหลงใหลเข้าใจผิด ยิ่งปฏิบัติก็จะเพิ่มกำลังให้กับกิเลส มีแต่โทษหาประโยชน์มิได้เลย
๒. อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนให้ลำบาก ถือว่าเป็นความประพฤติที่เคร่งครัดจนเกินไป ยิ่งทำก็ยิ่งทำให้หลงใหลงมงายมากขึ้น และไม่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นพระอริยเจ้าได้
สิ่งทั้งสองประการนี้ เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งเพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางไม่ย่อหย่อนจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป เป็นหนทางอันพอดีที่จะให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลสและความทุกข์หรือความหลุดพ้นเป็นอิสระสิ้นเชิง อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริออกจากกาม ดำริไม่พยาบาทและดำริไม่เบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจากพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิดทำนองคลองธรรม
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น ละบาปที่เกิดขึ้นแล้วสร้างกุศลให้เกิดขึ้น และรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ มีสติกำหนดพิจารณากาย เวทนา จิตและธรรมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา มีสติพิจารณาอยู่ตลอดเวลา
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ การเพ่งอารมณ์จนจิตใจแน่วแน่ และเจริญฌานทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้า ทรงแสดงทางสายกลาง ๘ ประการแล้ว ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลัก ความจริงอันประเสริฐ พระอัญญาโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าของพระปัญจวัคคีย์ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้รู้ธรรมตามสภาพที่เป็นจริงว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นมีความดับเป็นธรรมดา จึง ทูลขอบวช พระพุทธองค์ทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองด้วยการเปล่งพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเกิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด นับว่าเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนานี้ ที่บวชตามพระพุทธองค์ จึงถือว่าพระพุทธศาสนามีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบสมบูรณ์ในวันอาสาฬหบูชา
พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มุ่งมั่นให้เรามุ่งเน้นประกอบคุณงามความดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ด้วยการปฏิบัติตามสายกลาง มีความเห็นที่ถูกต้องในเบื้องต้นและ มีจิตใจที่ตั้งมั่นสงบเยือกเย็น แม้การปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่เคร่งเครียดหรือย่อหย่อนจนเกินไป จะทำให้มีความสุขกับการทำงาน ถือว่างาน คือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน และพระธรรมคำสั่งสอนยังให้ความสำคัญกับการปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชาเพราะเป็นหนทางที่จะสามารถแก้ไขพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติให้ดีขึ้น บริสุทธิ์ บริบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ทั้งยังพิสูจน์ได้ทุกยุคทุกสมัยว่า ปฏิบัติดีในเวลาใด ก็จะได้รับผลดีในเวลานั้น ซึ่งได้แก่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง
(ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันที่ ๑๕ ก.ค.๔๘ )--จบ--