กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สวทช.
สวทช. จับมือ ภาคเอกชน ยกระดับความรู้ ความสามารถบุคลากรในสาขาวิชาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ป้อนตลาด หลังเกรงว่า อนาคตจะขาดแคลนช่างซ่อมรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น เพราะปัจจุบันตลาดรถจักรยานยนต์เกือบ 50%ได้เปลี่ยนมาเป็นรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติ และระบบหัวฉีดไฟฟ้าแทนรถรุ่นเก่าที่เริ่มลดน้อยลง พร้อมดึงหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเข้าร่วมเป็นการนำร่องโครงการ iTAP สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันตก
ปัจจุบัน“รถจักรยานยนต์”ได้ถูกพัฒนาให้มีระบบการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น ล่าสุดได้พัฒนาเทคโนโลยีจากระบบเกียร์ธรรมดามาเป็นเกียร์อัตโนมัติ และระบบหัวฉีดฉีดไฟฟ้าที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยวิวัฒนาการของรถจักรยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ระบบการทำงานของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้ต้องประสบปัญหาบุคลากรหรือช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เพราะขาดความรู้ความสามารถในการซ่อมรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่เริ่มมีการนำออกมาในตลาดแล้วกว่า50% ขณะที่รถจักรยานยนต์รุ่นเก่ากำลังหมดไปจากตลาดในเร็วๆ นี้
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทางโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรจากหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถในสาขาวิชาชีพช่างยนต์และช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ให้มีคุณภาพและปริมาณ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดในอนาคต โดยได้ร่วมมือกับบริษัท โล้วเฮงหมงมอเตอร์ จำกัด และบริษัท AP HONDA จำกัด จัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรและพนักงานในเครือ พร้อมทั้งคณาจารย์จากหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อาทิ วิทยาลัยสารพัดช่าง , วิทยาลัยการอาชีพกาญจนบุรี , วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี , วิทยาลัยการอาชีพพนมทวน และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกาญจนบุรี เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดต่อให้กับนักศึกษาต่อไป
“ การจัดอบรมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของ iTAP ที่ได้จัดให้มีความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวขึ้น จากแนวคิดของผู้ประกอบการที่ต้องการฝึกอบรมบุคลากรของบริษัท โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านวิทยากรและอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจสอบรถจักรยานยนต์ รุ่น Click ( ระบบเกียร์อัตโนมัติ) และรุ่น Wave 125i ( ระบบหัวฉีดไฟฟ้า ) จากบริษัท AP HONDA ขณะที่ทาง iTAP ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาให้การสนับสนุนและประสานสถานศึกษาต่างๆ เข้าร่วมรับการอบรม เพื่อรับความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยด้านรถจักรยานยนต์ นำไปพัฒนาหลักสูตรให้สามารถผลิตนักศึกษาได้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและทันเวลา นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อต่อยอดการทำงานไปสู่โครงการความร่วมมืออื่นๆต่อไปในอนาคต ครั้งนี้จึงถือเป็นการนำร่องโครงการ iTAP สู่ภูมิภาคตะวันตก ” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
นายกิตติ ภูศรี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เนื้อหาที่ทาง สวทช.จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้งาน รวมถึงต้องการความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องของตลาดรถจักรยานยนต์และแนวโน้มในอนาคต ดังนั้นโครงการอบรมที่จัดขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อหน่วยงานการศึกษา เพราะอย่างน้อยทำให้ได้รู้ถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาปูพื้นฐานให้กับเด็กและนักศึกษาที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะเป็นการเตรียมช่างซ่อมจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีฝีมือรองรับตลาดในอนาคต
“ เนื่องจากตอนนี้รถจักรยานยนต์ในตลาดเริ่มมีระบบใหม่เข้ามา ขณะที่ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงมีพื้นฐานความรู้เดิมเฉพาะรถรุ่นเก่ายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบกลไกการทำงานของเครื่องรุ่นใหม่ อีกทั้งปริมาณช่างที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องมีพัฒนาช่างซ่อมรถฯ จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่จบหลักสูตรสาขาวิชาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งบริษัทผู้ผลิต และศูนย์จำหน่ายและบริการรถจักรยานยนต์อย่างมาก ”
เช่นเดียวกับ นายวัลลภ มากมี ครู คศ. 3 แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี ที่กล่าวว่า “การจัดอบรมครั้งนี้ มีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ในอนาคต เพราะปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะทางด้านช่างยนต์ ไม่ว่าจะเป็นครู-อาจารย์ หรือ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ตามศูนย์บริการต่างๆ ถ้าไม่มีการพัฒนาไม่เพิ่มทักษะความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้หรือประกอบอาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเด็กช่างยนต์ทั่วไปค่อนข้างอ่อนในเรื่องของไฟฟ้ารถยนต์ และถ้าไม่มีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นตรงนี้ไปตรวจซ่อมแล้วก็อาจเกิดความเสียหายได้ และเชื่อว่า ไม่ถึง 5 ปีจากนี้เรื่องของมลพิษ และสิ่งแวดล้อมจะได้รับการดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภาวะโลกร้อนขึ้นรวมถึงปัญหาพลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังจะหมดไปจากโลกเหล่านี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายออกมาควบคุมเข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษดังกล่าวมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ไทยจึงควรเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป”
ด้านนายวรวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โล้วเฮงหมงมอเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า วิวัฒนาการของรถจักรยานยนต์ฮอนด้าที่ได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2508 จนปัจจุบันกว่า 42 ปีแล้ว โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก ประเภทเครื่องยนต์ 2 จังหวะ 4 จังหวะ แต่พอช่วง 5 ปีหลังมานี้ รถจักรยานยนต์ได้มีการพัฒนาให้มีความสะดวกในการใช้งานง่ายขึ้น มีการเปลี่ยนมาเป็นระบบเกียร์อัตโนมัติในรถจักรยานยนต์รุ่นClick และระบบหัวฉีดไฟฟ้า กับรถจักรยานยนต์รุ่น Wave125i ที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนช่างซ่อมรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ เพราะเป็นระบบใหม่ที่ไม่มีในหลักสูตรทำให้ช่างที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ ไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการตรวจเช็คและซ่อมบำรุงรักษารถรุ่นใหม่นี้ได้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือครั้งนี้ เชื่อว่า หลังจากนี้จะทำให้หน่วยงานการศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาที่สนใจเข้าสู่วิชาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net