กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--สสวท.
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต” คือหัวข้อการอภิปรายพิเศษ สำหรับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 6 หรืองาน วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 6 ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำหรับผู้ร่วมอภิปรายคือ รศ. ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผศ.ดร. ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการระบบนำส่ง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ พ.ศ.2553
ข่าวการเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ ในญี่ปุ่น สะท้อนเห็นให้ว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามความเห็นของ ผศ.ดร.ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ์ ในขณะที่ประเทศไทยเองเคยเกิดสึนามิมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทบทวนคือ การดูแลเรื่องระบบการเตือนภัยให้ดีกว่านี้ ในอนาคตอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่ากันคือ การที่ประชากรทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้น ปี พ.ศ. 2554 มีรายงานว่ามีประชากรถึง 7,000 ล้านคน และจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “ความมั่นคงทางอาหาร” ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพจะต้องคิดค้นงานวิจัยเพื่อเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร กล่าวว่า ในฐานะของนักปรับปรุงพันธ์ข้าวนั้น มองว่าในอนาคตจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน ทั้งน้ำ อากาศ ดังนั้น สิ่งที่นักปรับปรุงพันธ์จะต้องทำคือ จะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลก ภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นทำให้มีการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสำหรับพืชแล้วจะทำให้ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงดีขึ้น ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้น แต่คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปมีผลต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งมีคำถามตามมาว่า จะมีผลกระทบต่อผลผลิตของพืชหรือไม่?
สาเหตุที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแบบฉับพลัน ซึ่งเราได้พบเห็นอยู่ในเดือนมีนาคม ที่จู่ๆ ก็มีอากาศเย็นเข้ามา ทำให้เราต้องสูญเสียข้าวอีกหลายแสนตัน เพราะอากาศเย็นทำให้การผสมเกสรข้าวไม่ติด นี่คือปัญหาที่เราต้องเผชิญในปัจจุบัน แต่ในอนาคตข้างหน้าจะเผชิญกับอุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงขึ้นด้วย โดยประเทศไทยเราจะต้องเจอกับน้ำเค็มที่มาผสมกับน้ำจืด จนกลายเป็นน้ำกร่อย ซึ่งบ้านเราปลูกข้าวเป็นหลักทำให้เหลือพื้นที่สำหรับปลูกข้าวน้อยลง ซึ่งโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธ์ของข้าวเพื่อปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศนั้นมีน้อยมาก ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงพันธ์ข้าวให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไป
รศ.ดร.อภิชาติ คาดการณ์ถึงผลกระทบกับเกษตรกรไทยในอนาคตว่า สภาวะน้ำกร่อยนั้นจะท่วมขังพื้นที่ลุ่มภาคกลางทำให้สูญเสียพื้นที่ปลูกข้าวเป็นล้านไร่ ความสมบูรณ์ของพันธ์ข้าวจะลดลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ทำให้ข้าวบางพันธ์อาจจะสูญพันธ์ได้ เช่น การสูญเสียพันธ์ข้าวปิ่นแก้วที่เคยเกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งจะเกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชอย่างรุนแรง ซึ่งวันนี้เราเห็นการระบาดเพิ่มขึ้นแล้วของ “ตัวเพลี้ย” ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จะต้องเรียนรู้เรื่องของแมลงเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกสภาวะที่ตามมาคือ การเกิดน้ำท่วมและแห้งแล้งฉับพลัน การปลูกข้าว 70% ต้องอาศัยน้ำฝน สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงพันธ์ทำอยู่ขณะนี้คือ กำลังทดลองเพื่อหาพันธ์ข้าวที่ปลูกได้ในที่แล้ง
“จุดที่น้ำท่วมจุดแรกคือ ในเวียดนาม คาดว่าจะท่วมถึง 1 เมตร ส่วนในประเทศไทยจุดที่คาดว่าจะท่วมคือ พื้นที่ราบรังสิต กรุงเทพฯ อยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว สิ่งที่ผมกำลังทำคือ การย้อนกลับไปหาพันธ์ข้าวดั่งเดิม ซึ่งต้องหาพันธ์ข้าวที่ทนน้ำเค็มด้วย อย่างไรก็ตาม เราอาจจะปรับปรุงพันธ์ข้าวให้ทนกับสภาวะโลกร้อนได้ แต่ความสมบูรณ์อาจจะไม่เหมือนในปัจจุบัน” รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว
ด้าน ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีการนำส่งยีน เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาตัวระบบนำส่ง โดยร่วมมือกับศูนย์พันธุ วิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การแก้ไขสภาวะการขาดแคลนอาหาร อย่างกรณีที่มีการดำเนินการแล้วร่วมกับไปโอเทค คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของเอนไซม์ในไก่ให้มากขึ้น เพราะไก่ยังขาดเอนไซม์อยู่หลายตัว และการนำเข้าเอนไซม์มีราคาสูง ดังนั้น หากทำให้เอนไซน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไก่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น
นอกจากนี้เมื่ออุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ สิ่งมีชีวิตต่างๆจะมีโรคที่แตกต่างกันไป อย่างกรณีของ โรคไวรัสกุ้งหัวเหลือง ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับเกษตรกรที่ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ดังนั้น จึงต้องคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีความต้องการมาก
สุดท้าย ดร.อุรชา เห็นว่า ในอนาคตการจะพัฒนาประเทศให้ก้าวไกลนั้น จำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นต้องสะสมขึ้นในประเทศ ไม่ใช่การนำเข้าจากภายนอก ดังนั้น การที่เยาวชนหันมาสนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะปัจจุบันมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือ เด็กไทยให้ความสนใจการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ และประกอบอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อยลง
ด้าน ผศ.ดร.ยอดเยี่ยม เป็นห่วงว่า สิ่งที่นักวิจัยคิดค้นขึ้นมานั้น ทำอย่างไรจะให้งานวิจัยที่ทำขึ้นไปถึงมือของเกษตรกรโดยตรง เพราะการทำงานวิจัยแต่ละเรื่องนั้นมีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ควรมีการพูดคุยให้มากขึ้นระหว่างแต่ละภาคส่วน เพื่อนำงานวิจัยมาใช้ได้จริง ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ทำอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น
ส่วน รศ.ดร.อภิชาติ ทิ้งท้ายเป็นข้อแนะนำกับเยาวชนรุ่นใหม่ว่า การจะสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นได้นั้น ขึ้นอยู่ตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยเหตุด้วยผล เยาวชนไทยเองควรจะเป็นคนขี้สงสัย ใฝ่รู้ หัดตั้งคำถาม ต้องไม่ยอมเชื่อง่ายๆ แต่ให้พยายามหาคำตอบด้วยการทดลอง เปรียบเทียบในสิ่งที่ดี และต้องไม่ย่อท้อ หากล้มเหลว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะงานวิจัยแต่ละชิ้นนั้นต้องใช้เวลา และความต่อเนื่อง
...เพราะโลกในอนาคตคือ โลกที่ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มนุษยชาติต้องเผชิญร่วมกัน