ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ชุดใหม่ “บ. เซ็นทรัลพัฒนา” ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตองค์กร & ตราสารหนี้ปัจจุบันที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2011 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นงบลงทุนตามแผน ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้า ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าคุณภาพสูง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ และนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อใช้รองรับแผนการขยายงานในช่วง 3 ปีข้างหน้าและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานภาพที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจบริหารศูนย์การค้า ทั้งนี้ การฟื้นตัวของรายได้จากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจากศูนย์การค้าที่เปิดใหม่จะช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากของบริษัท ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 32% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของไทย (27%) การเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นร้านค้าหลักภายในศูนย์การค้าของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2553 บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าจำนวน 15 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญ โดยมีพื้นที่ค้าปลีกรวม 964,612 ตารางเมตร (ตร.ม.) และในเดือนมีนาคม 2554 บริษัทเพิ่งเปิดให้บริการศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่จังหวัดเชียงรายด้วยพื้นที่ค้าปลีก 27,500 ตร.ม. พื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ ที่บริหารงานโดยบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.4% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ 5.1% ต่อปีของพื้นที่ค้าปลีกรวมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเล็กน้อย บริษัทคงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารศูนย์การค้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากเปรียบเทียบพื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ เดือนธันวาคม 2553 แล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 22% บริษัทมีอัตราการเช่าศูนย์การค้าทั้ง 15 แห่งโดยเฉลี่ยที่ระดับ 95% ต่อปี ณ เดือนธันวาคม 2553 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 91% นอกจากนี้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงราย ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2554 ก็มีอัตราการเช่าพื้นที่สูงถึง 93% บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ศูนย์การค้าบางส่วนได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งได้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไว้ไม่เกิน 3,500 ล้านบาท และคาดว่าวงเงินประกันภัยที่บริษัทได้ทำไว้จะครอบคลุมมูลค่าความเสียหายได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ บริษัทได้ทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมทั้งประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก และประกันภัยการก่อการร้ายเอาไว้แล้ว โดยคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนบางส่วนในปี 2554 และได้รับส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน 2 ปีข้างหน้า พื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 สำหรับห้างสรรพสินค้าเซ็น (Zen) ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยตระกูลจิราธิวัฒน์นั้นคาดว่าจะก่อสร้างและซ่อมแซมแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ในปี 2553 บริษัทมีรายได้ค่าเช่าและบริการจำนวน 9,822 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับปี 2552 สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงจากการปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และการโอนสินทรัพย์ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปี 2552 แม้จะมีรายได้ค่าเช่าจากศูนย์การค้าใหม่ 4 แห่งที่เปิดและซื้อกิจการในปี 2552 มาชดเชยแล้วก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2553 ก็ปรับลดลงเป็น 1,130 ล้านบาทซึ่งรวมขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ของโครงการเซ็นทรัลเวิลด์จำนวน 804 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 51.23% ณ เดือนธันวาคม 2553 และมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 19,941 ล้านบาทเนื่องจากมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากสำหรับขยายงานใหม่และปรับปรุงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ด้านแผนการพัฒนาโครงการระหว่างปี 2554-2556 นั้น บริษัทมีความต้องการใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปีสำหรับโครงการทั้งในและต่างประเทศ ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2554 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2553 จากการกลับมาเปิดให้บริการเต็มปีของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และแผนการเปิดศูนย์การค้าใหม่อีก 3 แห่งในปีนี้ แม้ว่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว จะทำการปิดปรับปรุงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 แต่ก็คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+อันดับเครดิตตราสารหนี้:CPN119A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ A+ CPN126A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A+ CPN135A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ CPN136A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ CPN145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A+ หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ