กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันภายใต้โครงการ Medium-term Debenture ในวงเงินรวม 40,000 ล้านบาทของ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (“TLT” หรือ “ผู้ออกหุ้นกู้”) ที่ระดับ “AAA” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทภายใต้โครงการ Short-term Debenture มูลค่า 7,000 ล้านบาท (1/2553) และมูลค่า 10,000 ล้านบาท (1/2554) ที่ระดับ “T1+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของบริษัทภายใต้โครงการ Medium-term Debenture ที่ระดับ “AAA” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่ไปใช้ชำระหนี้ที่ใกล้ครบกำหนดและใช้ในการขยายสินเชื่อ
หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทได้รับการค้ำประกันโดย Toyota Motor Finance (Netherlands) B.V. (“TMF” หรือ “ผู้ค้ำประกัน”) โดย TMF เป็นบริษัทลูกของ Toyota Financial Service Corporation (TFS) ที่ถือหุ้น 100% โดย Toyota Motor Corporation (TMC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มโตโยต้า บริษัททั้ง 3 แห่งคือ TMF, TFS และ TMC ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ “AA-” จาก Standard & Poor’s (S&P) และระดับ “Aa2” จาก Moody’s Investors Service (Moody’s) รวมทั้งได้รับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นที่ระดับ “A-1+” จาก S&P และ “P-1” จาก Moody’s ด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า สถานะทางการตลาดของ TMC ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้ารถยนต์ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2553 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่11 มีนาคม 2554 จะชะลอการฟื้นตัวของผลประกอบทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทที่ก่อนหน้านี้ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปีบัญชี 2553 แม้ว่าโรงงานของบริษัทจะไม่ได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาจากการขนส่งที่ล้าช้าและการขาดแคลนส่วนประกอบรถยนต์ทำให้บริษัทต้องมีการปรับตารางการผลิตของโรงงานทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ทั้งนี้ อย่างน้อยในระยะสั้น ทริสเรทติ้งคาดว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการผลิตที่หยุดชะงักแม้ว่าโรงงานบางแห่งจะกลับมาเริ่มการผลิตได้อีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2554 ก็ตาม ฉะนั้นการปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรจึงยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบริษัท
หากไม่นับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิแล้ว ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลประกอบการของ TMC ถือว่าปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายรอบปีบัญชี 2553 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งจากความพยายามในการลดต้นทุนโดยการริเริ่มโครงการ Emergency Profit Improvement Program และจากผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจให้บริการทางการเงิน ทั้งนี้ TMC รายงานกำไรสุทธิจำนวน 209 พันล้านเยนในรอบปีบัญชี 2553 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 437 พันล้านเยนในรอบปีบัญชี 2552 TMC รายงานผลกำไรสำหรับ 3 ไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2554 ถึง 383 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นจาก 97 พันล้านเยนในช่วงเดียวกันของรอบปีบัญชี 2553
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ระยะปานกลางและระยะสั้นของ TLT สะท้อนถึงการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย TMF ซึ่งอันดับเครดิตของ TMF อยู่บนพื้นฐานของสถานะอันดับเครดิตของ TMC ภายใต้โครงสร้างการค้ำประกันดังกล่าว TMC ได้ทำสัญญาให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Credit Support Agreement หรือ CSA) กับ TFS ในขณะเดียวกัน TFS ก็ได้ทำสัญญา CSA กับ TMF ด้วยเช่นกัน ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา CSA ดังกล่าว TMC จะทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับภาระหนี้หุ้นกู้ หรือพันธบัตร และตราสารทางการเงิน (Commercial Paper) อื่น ๆ ของบริษัทลูกซึ่งได้แก่ TFS และ TMF นอกจากนี้ TMC จะเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอสำหรับเงื่อนไขการค้ำประกันของ TMF ด้วย ทั้งนี้ การค้ำประกันของ TMF บังคับใช้ภายใต้กฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเป็นการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ซึ่งผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระเงินตามกำหนดเวลาของหุ้นกู้แต่ละชุดที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ของ TLT ทั้งนี้ ภาระการค้ำประกันของ TMF มีสถานะทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกันที่ออกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือเพิกถอนโดยปราศจากการยินยอมทั้งจากตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ค้ำประกันได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้ำประกันไม่มีภาระในการชำระหนี้ใดใดแทนในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเหตุอันเกิดจากการเข้าแทรกแซง หรือการกระทำต่าง ๆ โดยองค์กรใดใดของรัฐบาลไทย ดังนี้ (1) ชะงักการชำระเงินเนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถโอนเงินไปให้นายทะเบียน หรือผู้ถือหุ้นกู้ หรือไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ต้องชำระตามหุ้นกู้ (2) ทำให้ต้องมีการโอนการถือหุ้นข้างมากหรือการควบคุมผู้ออกหุ้นกู้ไปยังองค์กรอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกของกลุ่มโตโยต้า (3) การเวนคืนหรือการโอนซึ่งทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้ให้เป็นของรัฐซึ่งมีมูลค่ารวมอย่างน้อย 10% ของมูลค่าสุทธิของสินเชื่อเช่าซื้อสุทธิของผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ และ (4) การเวนคืนหรือการโอนทรัพย์สินให้เป็นของรัฐอันมีผลทำให้ผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดน้อยมาก
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่ลำดับสุดท้ายของ TLT คือ TMC ซึ่งมีสถานะที่เข้มแข็งในตลาดการค้าสำคัญแม้ว่าจะอ่อนตัวลงจากผลกระทบของปัญหาด้านคุณภาพสินค้ารถยนต์รวมทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในประเทศญี่ปุ่น โดยความเข้มแข็งดังกล่าวเกิดจากการขยายขอบเขตธุรกิจสู่ภูมิภาคต่าง ๆ และการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ปัจจุบัน TMC ได้รับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” จาก S&P ซึ่งเปลี่ยนจาก “Negative” หรือ “ลบ” หลังจากที่ S&P ได้ปรับลดอันดับเครดิตของ TMC จาก “AA” เป็น “AA-” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 ในขณะที่ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2554 Moody’s อยู่ในระหว่างการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันระยะยาวของ TMC โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงหลังจากที่ก่อนหน้านี้แนวโน้มอันดับเครดิตที่ได้รับจาก Moody’s เป็น “Negative” หรือ “ลบ” ซึ่งสะท้อนว่าผลประกอบการทั้งทางด้านการดำเนินงานและการเงินของ TMC จะถดถอยลงจากผลของแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิรวมถึงผลจากการขาดแคลนส่วนประกอบในการผลิต อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตในปัจจุบันที่ระดับ “AA” ซึ่งจัดโดย S&P และ “Aa2” โดย Moody’s ยังคงสะท้อนสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ TMC เมื่อเทียบกับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับ National Scale ที่ “AAA” จากทริสเรทติ้ง -- จบ
บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT)
อันดับเครดิตตราสารหนี้:หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงิน 40,000 ล้านบาท ในโครงการ Medium-term Debenture:
- TLT114A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ AAA
- TLT124A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT128A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT129A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT12DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT134A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT136A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT138A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT139A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT13DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT145A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ AAA
- TLT149A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ AAA
- หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 AAA
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ในโครงการ คงเดิมที่ T1+
Short-term debenture (1/2553)
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ในโครงการ คงเดิมที่ T1+
Short-term debenture (1/2554)
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)