กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--อิมเมจ อิมแพค
ผลการศึกษาระบุมีผลกระทบหากได้รับการต่อต้าน
นักวิชาการระบุการนำเอาเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมมาใช้จะเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและบรรเทาปัญหาความยากจนของเกษตรกร อ้างอิงจากผลการศึกษาวิจัยเรื่องประโยชน์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรในประเทศไทย (The Study of Agricultural Biotechnology Benefits in Thailand) ซึ่งได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันนี้
ผลการศึกษาดังกล่าวได้มีการเจาะลึกถึงการพัฒนาและผลกระทบของเทคโนโลยีชีวภาพต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยระบุว่า ไทยจะเสียเปรียบในทุกด้านหากไม่มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้อย่างเหมาะสม โดยในรายงานการวิจัยมีการระบุถึงกรณีของการนำเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรมาใช้แล้วในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และการนำเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมมาใช้กับมะละกอและฝ้ายในประเทศไทย ซึ่งกรณีศึกษาดังกล่าวจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของทุกฝ่ายในการนำเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมมาใช้ในภาคการเกษตรของไทยในอนาคต
เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมเป็นทางเลือกใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและลดการลงทุนในการดูแลพืชผลเหล่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยสร้างลักษณะทางพันธุกรรมของพืชตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการของภาคการเกษตร
ในประเทศไทยฝ้ายและมะละกอเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พันธุ์ฝ้ายและมะละกอที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมนั้น เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในต่างประเทศเพราะมีความต้านทานสูงต่อแมลงศัตรูและโรคพืช และมีความพร้อมที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย หากได้รับการอนุมัติเห็นชอบ
เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกฝ้ายมากกว่า 937,500 ไร่ และมีผลผลิตมากกว่า 65,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกลดลงเหลือเพียงประมาณ 70,000 ไร่ นักวิชาการยังชี้ว่าหากมีการนำฝ้ายบีทีมาปลูกจะก่อให้เกิดรายได้ ต่อชาติมากกว่า 400 ล้านบาทต่อปี
“เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าฝ้ายเป็นหลัก ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จะช่วยในเรื่องดุลการค้า การสร้างงานในประเทศ และการสร้างรายได้ให้กับประเทศในที่สุด” รศ. ดร. สุพัฒน์ อรรถธรรม ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
ในทางเดียวกัน หากพื้นที่เพาะปลูกมะละกอในไทยยังคงอยู่ที่ 111,638 ไร่ ณ ปัจจุบัน การนำเอามะละกอเทคโนชีวภาพที่ต้านทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่าพันธุ์พื้นเมืองมาใช้ จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 24,000 ล้านบาทต่อปี
หลังจากที่มีการนำพืชเทคโนชีวภาพมาปลูกอย่างแพร่หลายและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่ก็ยังปรากฏว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร “การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ จะต้องถูกปฏิบัติบนพื้นฐานของจริยะธรรมที่ดีและหลักการความปลอดภัยทางชีวภาพ ในขณะเดียวกัน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง” ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าว
ประโยชน์มหาศาลของเทคโนโลยีชีวภาพเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วโลก ทำให้ในปี 2549 มีประมาณ 22 ประเทศทั่วโลกเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพ และอีก 29 ประเทศที่มีการนำเข้าไปเป็นทั้งอาหารคนและสัตว์ รวมทั้งประเทศไทยจำนวนของเกษตรกรทั่วโลกที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพเพิ่มเป็นกว่า 10.3 ล้านคน จากประมาณ 8.5 ล้านคนในปี 2548
ในทวีปเอเชีย เกษตรกรจีนประมาณ 6.8 ล้านคนเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพ อีก 2.3 ล้านคนอยู่ในประเทศอินเดีย และมากกว่า 100,000 คนในประเทศฟิลิปปินส์ โดยในประเทศอินเดียมีพื้นที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพมากกว่า 3.8 ล้าน เฮคตาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 192 จากปี 2548
ดร.สุทัศน์ แสดงความคิดเห็นว่าประโยชน์อันเกิดจากเทคโนโลยีชีวภาพที่เห็นได้ชัดในประเทศอินเดียน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีการทดลองปลูกพืชเทคโนชีวภาพอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2544 การรื้อฟื้นการทดลองปลูกขึ้นมาอีกครั้งจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของภูมิภาค ในขณะที่คุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยจะดีขึ้นเพราะเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทางการเกษตร
“เทคโนโลยีชีวภาพจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เหมือนกับที่คนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสาระสนเทศในช่วงเฟื่องฟูของอินเตอร์เน็ต” ดร.สุทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์
ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์
นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์
โทร/โทรสาร: 0-2940-5264
หรือ
บริษัท อิมเมจ อิมแพค จำกัด
คุณชุตินันท์ คุณะดิลก / คุณทรงยศ เดชะไกศยะ
โทร. 0-2253-6809-12 ต่อ 118 / 109 โทรสาร 0-2253-6805