กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--พม.
เมื่อวานนี้ (๒๕ เม.ย.๕๔) เวลา ๑๖.๐๐ น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง สำนักงานเขตบางกะปิ และกองบังคับการตำรวจนครบาล ๔ จัดกิจกรรม “สร้างความสัมพันธ์: หอพักสัญจรครั้งที่ ๑”เพื่อพบปะและรับฟังความข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการหอพักและผู้พักอาศัย และสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของคณะกรรมการภาคประชาชน รวมทั้งแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “หอพักติดดาว ครั้งที่ ๓” และโครงการ “เพื่อนข้างห้องเตือนภัย”โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน พร้อมนำเยี่ยมหอพักบริเวณซอยรามคำแหง ๒๙ ณ หอพักบริเวณซอยรามคำแหง ๒๙ ถนนรามคำแหง หัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการสำรวจหอพักที่ยื่นจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศมีอยู่เพียง ๑๓,๓๐๐ แห่ง แบ่งเป็นในเขต กทม.๑,๙๐๓ แห่ง ส่วนภูมิภาค ๑๑,๓๙๗ แห่ง แต่ยังมีหอพักและสถานที่เข้าข่ายหอพักอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหอพัก ซึ่งการจัดตั้งหอพักโดยไม่ได้รับอนุญาตนี้ ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย เช่น ปัญหาการมั่วสุมของเด็กและเยาวชน ทั้งเรื่องเพศ ยาเสพติด การพนัน การทะเลาะวิวาท หรือการตั้งครรภ์ในวัยเรียน เป็นต้น รวมทั้งพฤติกรรมของเยาวชนที่พักอยู่รวมกันเป็นคู่ระหว่างหญิง-ชาย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงกำหนดมาตรการต่างๆ ในการจัดระเบียบหอพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนหอพักให้ถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดทำโครงการหอพักเครือข่ายรอบสถานศึกษา โดยเชิญชวนผู้ประกอบการพัฒนาหอพักให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และควบคุมดูแลการดำเนินกิจการหอพักเอกชน ตามพ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๐๗ โดยมีมาตรการในการจัดระเบียบหอพัก ดังนี้ ๑. มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจหอพัก ๒.ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดทำโครงการหอพักเครือข่ายรอบสถาบันการศึกษา ๓. ส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนในหอพัก ร่วมสอดส่องดูแล และเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ ในหอพัก ๔. ให้ผู้ปกครองเอาใจใส่ ติดตามดูแล โดยมาเยี่ยมเยียนบุตรหลานที่หอพักอย่างสม่ำเสมอ ๕. จัดทำมาตรฐานหอพักในเรื่องของความสะอาด สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ๖.ประชาสัมพันธ์หอพักที่จดทะเบียนถูกต้องตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาทราบ และ ๗.ร่วมกับสมาคมผู้ดำเนินธุรกิจหอพัก ให้ความรู้เรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การคัดเลือกหอพักดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและสร้างขวัญกำลังใจให้กับหอพักที่ดี
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการ “เพื่อนข้างห้องเตือนภัย” ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง สำนักงานเขต และสถานีตำรวจในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อกระตุ้นให้ผู้พักอาศัยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สร้างความร่วมมือและเครือข่ายในการเฝ้าระวังภัย และป้องกันปัญหาต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในหอพัก ซึ่งได้นำร่องและแจก “นกหวีดเตือนภัย” ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อใช้เป็นสัญญานเตือนภัย โดยเป่านกหวีดยาว ๑ ครั้ง เป็นสัญญานขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ โครงการเพื่อนข้างห้องฯ ริ่มมาจากโครงการ “หอพักสีขาว” จนมาถึงโครงการ “หอพักติดดาว” ซึ่งเป็นการประเมินมาตรฐานและการให้บริการของหอพักตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการหอพักย่านหัวหมากและวิทยาเขตบางนา โดยในปีแรก (๒๕๕๒) มีหอพักเข้าร่วมโครงการ ๑๑๘ แห่ง และครั้งที่ ๒ (๒๕๕๓) ๑๗๙ แห่ง
“โครงการเพื่อนข้างห้องเตือนภัย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคม และสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าพักอาศัยในหอพักที่ปลอดภัย และเป็นการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามพ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๐๗ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้มีการบริการและการจัดการที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้พักอาศัยและสามารถให้บริการที่ช่วยสนับสนุนให้นักศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี" นายอิสสระ กล่าว