กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินสำรองเพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2554 อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนทางด่วน การมีกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต การแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน และการคาดการณ์ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อใช้ลงทุนตามแผน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากช่วยให้บริษัทมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสการลงทุนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตจะไม่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทางด่วนขั้นที่ 2 เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. ก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากใจกลางกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด โดยบริษัทและ กทพ. มีการแบ่งรายได้ในเขตเมืองสำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นตันไป สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. ได้เปลี่ยนจาก 50:50 เป็น 40:60 สำหรับในเขตนอกเมืองและทางด่วนส่วน C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ.
ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2543-2553) ในปี 2553 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 974,505 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนแม้จะมีเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพฯ ในปีดังกล่าวก็ตาม ในเดือนมีนาคม 2554 ปริมาณจราจรเติบโตสู่สถิติสูงสุดที่ระดับเกินกว่าหนึ่งล้านคันต่อวัน ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยออกไปในเขตปริมณฑล และการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติ
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงฐานะทางการเงินของบริษัททางด่วนกรุงเทพว่ามีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เติบโตขึ้น รวมถึงการลดลงอย่างต่อเนื่องของภาระหนี้และต้นทุนทางการเงิน ในปี 2553 เงินทุนจากการดำเนินงานเติบโตขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 4,928 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2554 เงินทุนจากการดำเนินงานจะลดลงจากผลของการที่รายได้ลดลงเนื่องมาจากส่วนแบ่งรายได้ที่ให้แก่ กทพ. เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวบรรเทาลงจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตของปริมาณจราจรโดยเฉพาะในเขตนอกเมือง รายได้ค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้นของทางด่วนส่วน C+ เนื่องจากบริษัทปรับลดส่วนลดค่าผ่านทางที่ให้แก่ผู้ใช้ทางด่วน และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ ลดลงจากการลดลงของภาระหนี้และอัตราดอกเบี้ย ในปี 2553 บริษัทได้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงินจากอัตราลอยตัว (MLR-2%) เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (3.75% ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 และ 4% หลังจากนั้น) ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญในภาวะที่ดอกเบี้ยมีการปรับขึ้น ณ เดือนธันวาคม 2553 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 51.41% จาก 57.29% ในปี 2552 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.6 เท่าในปี 2553 จาก 5.71 เท่าในปี 2552
ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันจากแผนการลงทุนของบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีแผนการลงทุนใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและส่วนขยายทางด่วน โดยทั้ง 2 โครงการจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 19,000 ล้านบาทในระยะ 5 ปีข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะมาจากการกู้ยืม ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มีนาคม 2554 บริษัทได้ซื้อหุ้นใน บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (ไซยะบุรี) ในสัดส่วน 7.5% จาก บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มูลค่า 60 ล้านบาท บริษัทไซยะบุรีได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าในประเทศลาว ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้ายังไม่มีความแน่นอน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะได้รับสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนศรีรัช สายวงแหวนรอบนอก โดยทางด่วนใหม่นี้เป็นส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิในการเจรจาต่อรองก่อน บริษัทจะยื่นข้อเสนอการประมูลงานต่อ กทพ. ในเดือนพฤษภาคม 2554 และคาดว่าจะมีการเปิดซองประมูลภายในเดือนเดียวกัน โดยการก่อสร้างมีกำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2555 และแล้วเสร็จในปี 2558
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BECL11NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ A
BECL128A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,895 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A
BECL139A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
BECL13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
BECL148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)