กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ไอแอม พีอาร์
“ความรัก ความอบอุ่น” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาเด็กไทยให้เติบใหญ่ขึ้นไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องเริ่มต้นจากการเลี้ยงดูเอาใจใส่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมรักและความเข้าใจต่อลูกตั้งแต่ในวัยเด็ก
นพ.อุดม เพชรสังหาร รองประธานฝ่ายพัฒนาวิชาการ บริษัทรักลูกกรุ๊ป กล่าวถึง คุณสมบัติเด็กไทยที่พึงมีในศตวรรษที่ 21 ว่าประกอบไปด้วย การรู้จักตนเองมีความภาคภูมิใจในตนเอง, มีความเป็นคนที่สมบูรณ์, มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ดีงามให้กับสังคม, มีความอดทนสู้ปัญหาล้มแล้วลุกได้, มีเพื่อน, รักและหวงแหนธรรมชาติ นั้นจะถูกปลูกฝังผ่านกิจกรรมที่เด็กได้ทำร่วมกับพ่อและแม่ตั้งแต่วัยเยาว์
โดยระบุว่า “มีงานวิจัยทั้งด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การเล่น การเล่านิทาน การพูดคุย และการให้เด็กได้มีโอกาสตัดสินใจเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองกิจกรรมทั้ง 4 นี้จะส่งผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน ดังนั้นครอบครัว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการที่จะเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ”
ด้วยเหตุนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนนานาชาติเมจิกเยียร์ส และ บริษัทในเครือรักลูกกรุ๊ป จึงได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ภายใต้ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อเป็นการสืบสานพระปณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่มีส่วนในการสร้างเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ
โดยโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ได้สร้าง “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” ให้มีความรู้เรื่องการพัฒนาเด็ก การเล่านิทาน อ่านหนังสือ และเล่นกับลูก กระจายออกไปในพื้นที่กว่า 30 จังหวัด ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลเด็กเล็กไปสู่ผู้ปกครอง โดยมีเป้าหมายในการสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก และให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กร่วมกัน
ตำบลห้วยเม็ก อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” ได้ร่วมกันเปิด “เวทีกิจกรรมเรียนรู้พ่อแม่” เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคนิคในการพัฒนาเด็กด้วยกระบวนการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองในพื้นที่
นายสุพัฒน์ สุระดนัย ผู้จัดการศูนย์ ๓ วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวห้วยโพธิ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กติดเกมส์ ยาเสพติด หรือปัญหาทางเพศ ล้วนมีต้นตอมาจากการ “ครอบครัว” ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะในเรื่องเล็กๆ ที่เรียกว่า “รัก” แต่ไม่สามารถให้กันได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
“โครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกนี้จะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง เด็กได้พูดคุยสัมผัส ทำให้เกิดความอบอุ่น เกิดความมั่นคงในจิตใจเด็ก ถ้าความสัมพันธ์ในครอบครัวดี ก็จะเป็นวัคซีนที่ดีในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีตามวัย เป็นเด็กที่มีกระบวนการคิดที่ในสิ่งที่ดีงาม ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพและไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม” นายสุพัฒน์กล่าว
โดยในการจัดเวทีกิจกรรมเรียนรู้พ่อแม่นั้น ทางวิทยากรฯ จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมเกิดความตระหนักถึงแนวโน้มและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากคุณภาพของเด็ก ที่ส่งผลต่อคุณภาพของสังคมไทยในอนาคต พร้อมกับถ่ายทอดเทคนิค ความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยทั้งในด้าน ร่างกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา รวมไปถึงการส่งเสริมคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามจากสมาชิกในครอบครัวผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ เล่า อ่าน เล่น เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ถูกต้อง
ด้วยการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือ และเล่นกับลูก” จะช่วยสร้างให้เด็กได้เกิดความรักความอบอุ่น มีจิตนาการ มีสุนทรียภาพ เด็กยังจะได้ในเรื่องของคำศัพท์และภาษาพูดจากเรื่องราวต่างๆ ที่อ่านและเล่า รวมถึงได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ ที่ดีงามจากตัวละครในหนังสือหรือนิทาน นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการในด้านต่างๆ ของร่างกายที่เหมาะสมตามวัย
นางเสาวลักษณ์ วิชัยวงษ์ คุณแม่ของ “น้องอาย” หรือ เด็กหญิงอาริสา วิชัยวงษ์ วัย 3 ขวบ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 บอกว่าการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกนั้นมีประโยชน์มาก เมื่อก่อนไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลย พอเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ก็เริ่มหาเวลาอยู่กับลูกอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็เห็นพัฒนาการของลูกที่ดีขึ้น
“พอได้มาอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ลูกชอบมากแล้วก็จะให้อ่านเรื่องเก่าๆ ซ้ำๆ เดิมๆ แรกๆ เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงชอบ แต่พออ่านแล้วเขาก็จะจำตามที่เราพูด แล้วเรื่องที่เราอ่านให้ฟังเขาก็จะเก็บเอาไปเป็นนิสัยของเขา เช่นเวลาทำอะไรผิดเขาก็จะขอโทษ เขารู้ว่าถ้าทำผิดแล้วขอโทษคนอื่นแล้วคนอื่นก็จะให้อภัย แล้วก็รู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่มีน้ำใจ เป็นคนที่เข้าสังคมได้ง่าย” นางเสาวลักษณ์ระบุ
ด้าน นางเรวดี ภูชมศรี คุณแม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมอีกคนหนึ่งเล่าถึงประโยชน์ของการเล่นกับลูกว่า ทำให้มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ครอบครัวมีความอบอุ่นมากขึ้น จากการที่ได้เล่นและได้สัมผัสตัวลูก
“การเล่นเราไม่จำเป็นต้องพาเขาไปเที่ยวในที่ต่างๆ เราเล่นกับเขาอยู่ที่บ้าน ใช้ของเล่นที่หาได้ง่ายๆ จากรอบตัว ไม่ต้องหาซื้อสิ่งของที่มีราคาแพง ของเล่นที่ทำจากวัสดุพื้นบ้านอย่างม้าก้านกล้วย หรือหมากเก็บของพื้นบ้านที่เรามีอยู่ก็นำมาเล่นได้ เป็นสามารถเป็นการสอนให้เขารู้จักการประหยัดไปด้วย” นางเรวดีกล่าว
“การพัฒนาประเทศหรือพัฒนาสังคมนั้น ทรัพยากรมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย เพราะเราเชื่อว่าการทำให้เด็กมีร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา ที่สมบูรณ์พร้อมในช่วงนี้ เด็กจะมีภูมิต้นทานที่แข็งแกร่งที่พร้อมจะไปยืนได้อย่างมั่นคงและก้าวไปอย่างมีความสร้างสรรค์ในอนาคตได้” นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงกล่าวสรุป.