กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทีม Plasma-Z คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความมั่นใจสร้างชื่อเสียง ศึกแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ หรือ World RoboCup 2007 สหรัฐอเมริกา อีกครั้ง หลังจากผลงานในปีที่ผ่านมา ทะลุเป้าสามารถคว้าอันดับสาม เหนือทีมแข่งขันเกือบ 20 ทีมทั่วโลก
นายกานต์ กาญจนาภาส นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรม เครื่องกล สาขาวิศวกรรมยานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ หัวหน้าทีม Plasma-Z ตัวแทนของประเทศไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ หรือ World RoboCup 200 ที่แอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 11 กรกฎาคม นี้ว่า ในปีนี้ทางเพื่อนนิสิตที่ร่วมกันทำงาน มีความตั้งใจพัฒนาหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก หลังจากในปีที่ผ่านมา ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถคว้าอันดับสาม ในการแข่งขันที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี มาครองได้อย่างเกินคาด ทั้งที่มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากสถาบันการศึกษาทั่วโลก ถึงเกือบ 20 ทีม
“ ส่วนพัฒนาการคุณสมบัติของหุ่นยนต์ ที่จะนำเข้าร่วมการแข่งขัน ในระดับนานาชาติประจำปีนี้ โดยหลักเป็นการนำเอาหุ่นยนต์ จากการแข่งขันที่เยอรมนี มาปรับปรุงให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมอเตอร์ เพื่อเพิ่มความเร่งของกำลังต้น ให้สามารถยิงลูกบอลได้เร็วและแรงกว่าเดิม รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการส่ง-รับ ลูกบอล และเพิ่มขีดความ สามารถพิเศษให้หุ่นยนต์ของเรา สามารถยิงลูกบอลโด่งได้อย่างแม่นยำด้วย ”
ทั้งนี้ หัวหน้าทีม Plasma-Z กล่าวด้วยความมั่นใจ ว่า แม้การแข่งขัน World RoboCup 2007 จะมีทีมคู่แข่งสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ มีการพัฒนาโครงสร้างหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้ามาก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าท้ายที่สุด ผลการแข่งขันจะออกมาอย่างสูสี และ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จ ด้วยการทำให้ลำดับของการแข่งขันดีขึ้นจากเดิมได้
ด้าน ผศ.ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาทีม Plasma-Z ยืนยันว่า การเข้าร่วมแข่งขัน World RoboCup 2007 ในครั้งนี้ ทางทีมงานค่อนข้างมีความพร้อมมากกว่าปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าจะสามารถคว้าตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าอันดับสามอย่างแน่นอน เพราะการพัฒนาในปีนี้ ทุกคนพยายามมุ่งเน้น ทำให้หุ่นยนต์มีความเสถียร เพื่อให้การทำงานมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
“ในการเข้าร่วมแข่งขัน Robocup ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหุ่นยนต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตเราอาจจะส่งทีม เข้าไปแข่งขันในลีกอื่นๆ ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงกว่าปัจจุบัน แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางการสนับสนุนของภาคเอกชน เพราะการมีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกเช่นนี้ ถือเป็นโครงการที่ดีสำหรับการช่วยพัฒนาทักษะ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเยาวชนไทยให้ดียิ่งขึ้น และ ส่งผลบวกต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศในอนาคต”
สำหรับการแข่งขัน World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล โดยการสร้างโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์แบบอัตโนมัติ ให้หุ่นยนต์สามารถเตะฟุตบอลได้ โดยไม่มีคนบังคับ และเล่นฟุตบอลตามกติกาที่ตั้งไว้ โดยกำหนดให้มีหุ่นยนต์ฝ่ายละ 5 ตัว ส่วนผลการแข่งขัน จะเหมือนกับการแข่งขันฟุตบอล คือ ผลแพ้-ชนะ จะนับประตูที่ยิงฝ่ายตรงข้ามได้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net