กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สป.
คณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ สภาที่ปรึกษาฯ จัดเสวนาระดมความเห็น เรื่อง “เทคโนโลยีระบบสัญญาณเตือนภัยจากภัยพิบัติ กรณีศึกษาอัคคีภัย”
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร จัดสัมมนาเรื่อง “เทคโนโลยีระบบสัญญาณเตือนภัยจากภัยพิบัติ กรณีศึกษาอัคคีภัย” โดยนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดการสัมมนาภายใต้หัวข้อดังกล่าวว่า การป้องกันอัคคีภัยเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดเหตุ สิ่งแรกที่ควรทำคือการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันอัคคีภัยที่เหมาะสมต่อไป
พล.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องอัคคีภัยไม่เหมือนภัยพิบัติอื่นเพราะต้องทำงานให้ครบวงจรและควบคุมสถานการณ์ให้ได้ภายใน 8 นาที สมัยก่อนกรุงเทพฯ มีตู้รับสัญญาณแจ้งเตือน แต่สมัยนี้สามารถใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งสะดวกกว่า ในประเทศสวีเดนนั้นมีการทดลองการเกิดของไฟ โดยจำลองห้องสี่เหลี่ยมที่มีเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จากนั้นจึงจุดไฟและจับเวลาในการเกิดเปลวไฟ การเกิดควัน เวลาเพียงห้านาที ควันไฟที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช้ากว่านั้นก็อาจจะไม่สามารถช่วยผู้ประสบภัยได้
“เทคโนโลยีการเตือนภัยในบ้านเรานั้นยังไม่สมบูรณ์ แต่ทางกรมป้องกันฯ ก็มีการประสานงานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเสมอ ถ้าหากได้รับการแจ้งเหตุที่รวดเร็วทันเวลา หรือมีอุปกรณ์ช่วยอย่างเช่น ตัวจับสัญญาณควันไฟ เป็นต้น ก็อาจจะสามารถควบคุมอัคคีภัยได้ทันเวลา” พล.ต.ท.ชุมพล กล่าว
ด้านนายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผอ.ส่วนงานควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับควบคุมไฟป่าว่า สาเหตุหลักของการเกิดไฟป่ามาจากการหาของป่ามากที่สุด รองลงมาคือการล่าสัตว์และเผาไร่ ด้านการป้องกันไฟป่านั้น ทางกรมอุทยานได้ใช้เทคโนโลยีระบบดาวเทียมจากนาซ่าที่เรียกว่า HotSpots คือการตรวจหากลุ่มควันไฟโดยใช้ดาวเทียม เพื่อบอกพิกัดของพื้นที่ที่เกิดไฟ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างที่จะสมบูรณ์แม่นยำ แต่มีข้อเสียคือข้อมูลการแจ้งเหตุที่ได้จะล่าช้ากว่าเวลาจริงถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ยากต่อการลดความเสียหาย แต่ทั้งนี้ทางกรมอุทยานจะมีการเฝ้าระวังไฟป่าอยู่เสมอ ทั้งการลาดตระเวนโดยการเดินเท้า การใช้ยานพาหนะ ตลอดจนทางอากาศ และมีสายด่วน 1362 ที่รับแจ้งเหตุไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง
นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการ (บริการและสิ่งแวดล้อม) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงการเตือนภัยและการโต้ตอบภาวะฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรมว่า การนิคมอุตสาหกรรมฯ มีข้อกำหนดด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมคือ กำหนดให้มีระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอุบัติภัย รวมถึงแผนโต้ตอบภาวะฉุกเฉินอัคคีภัยที่ต้องจัดให้มีการซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนปัญหาของการป้องกันนั้นภัยมักมีสาเหตุมาจากหลังเกิดอัคคีภัยแล้ว เจ้าหน้าที่นิคมอุตสาหกรรมไม่ยอมโทรศัพท์แจ้งสถานีดับเพลิง เพราะคิดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในบางครั้งก็ก่อให้เกิดความเสียหายตามมา
ด้าน รศ.ดร.สุรชัย รดาการ ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัยและอาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สถิติการเกิดอัคคีภัยในกรุงเทพมหานครประจำปี 2553 เฉลี่ยแล้วเกิดเพลิงไหม้อาคาร 11 ครั้ง/เดือน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นมักเสียชีวิตภายในบ้านของตนเอง ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนการอพยพคนออกจากครอบครัวล่วงหน้า โดยมีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและเตรียมเส้นทางหนีไฟเอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน
“ด้านแผนการระงับอัคคีภัยนั้น แต่ละบ้านจะมีตัวปั๊มน้ำอยู่แล้ว หากปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็จะสามารถใช้เป็นตัวควบคุมไฟได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จุดอ่อนของระบบดับเพลิงในบ้านพักอาศัยคือถังเก็บน้ำสำรองเพื่อการดับเพลิงนั้นมีขนาดเล็กเกินไป และในหลายหมู่บ้านก็ไม่ได้มีการวางแผนติดตั้งระบบดับเพลิงที่ดีพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินและคนที่เรารักได้” รศ.ดร.สุรชัยฯ กล่าว