ฟิทช์ ประกาศเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็น ‘B/C’

ข่าวทั่วไป Friday January 12, 2007 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (“SCBT”) เป็น ‘B/C’ จากเดิม ‘C’ ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารที่ระดับ ‘A-’ (A ลบ) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘1’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว IDR ที่ ‘AA+(tha)’ และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสืบเนื่องมาจากรายได้ ความสามารถในการทำกำไร และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของ SCBT แม้ว่าฟิทช์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ธนาคารมีความเสี่ยงที่สูงจากสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกันอาจจะส่งผลให้ธนาคารเผชิญกับความผันผวนของผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ SCBT ยังจะเผชิญกับสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่ลำบากขึ้นในปี 2550 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้นทุนในการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นได้ด้วย อันดับเครดิตสากล IDR และอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารมีพื้นฐานมาจากการที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแห่งอังกฤษ (“SC”) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร การเปลี่ยนแปลงใดๆในสัดส่วนการถือหุ้นหรือการสนับสนุนของ SC ย่อมส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT และเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงใดๆของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยหรืออันดับเครดิตของประเทศไทย ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT ด้วย
SCBT ร่วมเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายของ SC ในภูมิภาคเอเชีย SC มีความตั้งใจที่จะถือหุ้นในเชิงกลยุทธ์ใน SCBT ในระยะยาว รวมถึงจะใช้อำนาจควบคุมการบริหารธนาคารในคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT หลังจากปี 2552 SC ถูกจำกัดในการอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มเติมใน SCBT และจะต้องทำการพึ่งพาการเติบโตของกำไรสะสม การจัดสรรสินทรัพย์ และเงินกองทุนขั้นที่ 2 เพื่อลดทอนผลกระทบจากการที่การถือหุ้นของ SC จะถูกลดสัดส่วนลง เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ SC และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR ของธนาคารที่ระดับ ‘A+’ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ในกรณีที่มีความจำเป็น
ผลกำไรสุทธิของ SCBT เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาท ในปี 2548 จาก 764.7 ล้านบาท ในปี 2547 หากทำการปรับผลกระทบจากการควบรวม ผลการดำเนินงานหลักของ SCBT ยังคงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผลกำไรก่อนหักภาษีรวมของ SCBT และ SC สาขากรุงเทพ เพิ่มขึ้นถึง 38% สะท้อนถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อลูกค้ารายย่อย และรายได้จากค่าธรรมเนียมและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อลูกค้ารายย่อย และธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อลูกค้าสถาบันรายใหญ่ที่สูงขึ้น ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2549 ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ของ SCBT ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 43% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากสินเชื่อ ผลกำไรที่สูงขึ้นจากสัญญาตราสารอนุพันธ์ และผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากสภาพคล่องที่ดีขึ้น โดยสภาพคล่องดังกล่าวเป็นผลมาจากการสรุปสัญญาจัดการเงินให้กู้ยืม (“LMA”) ระหว่างธนาคารและกองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (“FIDF”) ในปี 2548
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารลดลงเป็น 2.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 จากระดับ 3% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี ระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.5 พันล้านบาท โดยระดับการกันสำรองหนี้สูญดังกล่าวเท่ากับ 107.2% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์จัดได้ว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่ง สินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกันซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ามีสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ในปี 2550 เมื่อพิจารณาถึงสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลง อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ SCBT อยู่ที่ระดับ -1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนทั้งหมดของ SCBT อยู่ที่ระดับ 10.8% และ 11.2% ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด (RWA) ตามลำดับ อัตราเงินกองทุนของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพและการสนับสนุนของบริษัทแม่ที่แข็งแกร่ง
SCBT ถูกก่อตั้งในปี 2476 โดยตระกูลหวั่งหลี ในปัจจุบัน SC มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 99.83% ในธนาคาร SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อประมาณ 1.7% และทางด้านเงินฝากประมาณ 1.5% และมีเครือข่ายสาขาทั้งสิ้น 41 สาขา ซึ่งสาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพและศูนย์กลางภูมิภาค
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
หมายเหตุ : อันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศ: F1(tha) แสดงถึงระดับความสามารถขั้นสูงสุดในการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของตราสารตรงตามกำหนดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารหรือตราสารอื่นๆ ในประเทศไทยภายใต้อันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศซึ่งกำหนดโดยฟิทช์ โดยอันดับความน่าเชื่อถือนี้จะมอบให้สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือที่มีความเสี่ยง “น้อยที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารอื่นในประเทศไทย และโดยปกติแล้วจะกำหนดให้กับตราสารทางการเงินที่ออกหรือค้ำประกันโดยรัฐบาล ในกรณีที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงเป็นพิเศษจะมีสัญลักษณ์ “+” แสดงไว้เพิ่มเติมจากอันดับความน่าเชื่อถือที่กำหนด
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ