พม.หนุนแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฯ สู่การปฏิบัติ เผยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มต่อเนื่อง คาดอีก ๒๐ ปี พุ่ง ๑๗ ล้านคน

ข่าวทั่วไป Thursday April 28, 2011 08:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๖๔) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๕๒ ไปสู่การปฏิบัติ” โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ในวันพุธที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องเจ้าพระยาบอลลูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๕๔ มีจำนวนผู้สูงอายุ ๗,๖๕๕,๐๐๐ คน คิดเป็น ๑๑.๓๒% และคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๖๔ จะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐,๒๓๒,๐๐๐ คน คิดเป็น ๑๔.๕๗% และในปี ๒๕๗๓ จะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง ๑๗,๗๔๔,๐๐๐ คน คิดเป็น ๒๕.๑๒% หรือก็คือ ในอีกประมาณ ๒๐ ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วน ๑:๔ ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรป ใช้เวลาประมาณ ๕๐ ปี และมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างดี ดังนั้น ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดให้มีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕- ๒๕๖๔) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ รวมทั้งมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุตามดัชนีชี้วัดในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ในช่วง ๕ ปีแรก (พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙) และมีการปรับปรุงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฯ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังขาดการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งควรเน้นการบูรณาการจากทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ในการขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามเจตนารมณ์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ การจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นการผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ได้มีความตระหนักและมีการจัดทำแผนปฏิบัติในทิศทางที่สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฯ โดยจัดให้มีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๖๔) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๒ และการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติ และการบรรยายเรื่อง“ทิศทางและประเด็นท้าทายการพัฒนาผู้สูงอายุ”รวมถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ประสบการณ์การแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติ”โดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และผู้แทนกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ รวม ๒๐๐ คน นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาผู้สูงอายุไทย ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑. การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ๒.การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ ๓.ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ๔.การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติและการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ ๕. การประมวลและพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุและการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ รวมทั้งได้กำหนดประเด็นท้าทายต่อการพัฒนาผู้สูงอายุไทยในระยะยาว ได้แก่ ๑.ประเด็นประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่มีความยากจน ๒. ความเร็วของการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุประเทศไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในเวลาที่สั้นมาก ขณะที่การเตรียมสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุยังค่อนข้างช้า ๓.การจัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีอยู่หลากหลาย ได้แก่ เบี้ยยังชีพเดือนละ ๕๐๐ บาท ค่าจัดการงานศพตามประเพณี ๒,๐๐๐ บาท เป็นต้น ให้มีความเหมาะสม ครอบคลุม ๔.การลดลงของศักยภาพการเกื้อหนุนของครอบครัวและประชากรวัยแรงงาน ๕.ภาวะการพึ่งพาสูงขึ้นและความต้องการการดูแลระยะยาว ๖.การนำศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ประโยชน์ ๗.การเสริมสร้างสมรรถนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถดำเนินงานด้านผู้สูงอายุได้อย่างมืออาชีพ และ ๘.การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความร่วมมือและขับเคลื่อนกระบวนการดำเนินงานตามหน้าที่ เพื่อให้แผนบรรลุความสำเร็จ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ