ฟิทช์ให้อันดับเครดิต ‘F1+(tha)’ แก่โครงการหุ้นกู้ระยะสั้น 5 หมื่นล้านบาทของธนาคารธนาคารไทยพาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2011 09:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ แก่โครงการหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดยหุ้นกู้ในโครงการดังกล่าวเป็น หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ มูลค่าไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งจะทำการออกเป็นชุดเป็นระยะเวลา 12 เดือนนับจากที่ได้ยื่นเอกสารเพื่อขออนุมัติ จำนวนเงินที่ได้จากการออกหลักทรัพย์จะนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจทั่วไป ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB อยู่ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงผลการดำเนินงานโดยรวมที่แข็งแกร่ง รวมถึงสภาพคล่องที่พอเพียงและเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งในความเห็นของฟิทช์น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบหากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานมีการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างรุนแรง ธนาคารยังเป็นผู้นำทางด้านเครือข่ายของเงินฝากและสินเชื่อ โดยมีธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่แข็งแกร่งที่สุดเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดย SCB มีสินเชื่อรายย่อยเป็นสัดส่วน 38% ของสินเชื่อรวม กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารยังประกอบด้วยธุรกิจจัดการกองทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ในเดือนมีนาคม 2554 ธนาคารได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCNYL ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 94.6% จาก 47.3% ซึ่งเป็นการขยายฐานธุรกิจประกันภัย โดยปัจจุบัน SCB มีทั้งธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัย ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา SCB สามารถที่จะมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ (รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) อยู่ที่ 2.43 หมื่นล้านบาท ในปี 2553 เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลง ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2554 ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 104.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1.31 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน SCNYL หากไม่นับรวมกำไรที่เกิดขึ้นดังกล่าว SCB ยังคงมีกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งที่ 8.0 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 20% (เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2553) และการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมทางการเงินสุทธิจากการรวมงบการเงินของ SCNYL ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (รวมค่าใช้จ่ายเงินสมทบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก) ลดลงมาที่ 3.3% ในไตรมาส 1 ปี 2554 จาก 3.4% ในไตรมาส 1 ปี 2553 ซึ่งเกิดจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากทิศทางของดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น อัตราส่วน ROAA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยต่อปี) และ ROAE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ยต่อปี) อยู่ที่ระดับ 2.0% และ 18.7% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 เทียบกับ ROAA และ ROAE ที่ระดับ 1.8% และ 16.2% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2553 สินเชื่อด้อยคุณภาพของ SCB ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.83 หมื่นล้านบาท หรือ 3.4% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 จากระดับ 3.88 หมื่นล้านบาท (3.7%) ณ สิ้นปี 2553 และ 4.48 หมื่นล้านบาท (4.8%) ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษยังปรับตัวลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 จากระดับ 2.93 หมื่นล้านบาท (2.8%) ณ สิ้นปี 2553 และ 3.26 หมื่นล้านบาท (3.5%) ณ สิ้นปี 2552 อันเป็นผลจากนโยบายป้องกันการเกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพใหม่ที่รัดกุม และความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ตามสภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2553 จากการที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลงทำให้อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 110.5% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 จากระดับ 107.3% ณ สิ้นปี 2553 และระดับ 95.7% ณ สิ้นปี 2552 ความสามารถในการระดมทุนและสภาพคล่องของ SCB ยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีฐานเงินฝากลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(รวมตั๋วแลกเงิน) อยู่ที่ 95.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ 93.3% ณ สิ้นปี 2553 สถานะเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 11.6% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 15.5% ณ สิ้นปี 2553 เทียบกับ 12.3% และ 16.5% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2552 ในขณะที่ผลจากการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมใน SCNYL ในไตรมาส 1 ปี 2554 จะมีผลทำให้อัตราส่วนของเงินกองทุนของธนาคารลดลงสุทธิประมาณ 0.5% ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อประมาณ 15% และเงินฝากประมาณ 16% ณ สิ้นปี 2553 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 24% และแม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีการถือหุ้นผ่านกองทุนวายุภักษ์อยู่ที่ประมาณ 23% แต่มีจำนวนกรรมการที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังไม่มากและไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานในธนาคาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ