เซ็นทรัลรีเทลลุยเปิด HUB ในประเทศ พร้อมต่อยอดสู่สาขาในประเทศจีน อัดงบเพิ่มปี 54 กว่า 200 ล้าน

ข่าวทั่วไป Thursday April 28, 2011 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น เซ็นทรัลรีเทลลุยเปิด HUB ในประเทศ พร้อมต่อยอดสู่สาขาในประเทศจีนอัดงบเพิ่มปี 54 กว่า 200 ล้าน เสริมยุทธศาสตร์พัฒนาระบบ Logisticสู่ความเป็นเลิศ “The Best Logistics Services Excellence in Retail” จัดงานมอบรางวัล CRC Partnerships Awards 2011ตอกย้ำและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ และคู่ค้า เซ็นทรัลรีเทลเปิดเส้นทางเชื่อมต่อสินค้าใหม่ หรือ HUB ในภาคเหนือและภาคใต้ บริหารต้นทุนการขนส่งและกระจายสินค้า รองรับการขยายตัวของบริษัทฯ ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดงานมอบรางวัล “CRC Partnership Awards 2011” เพื่อขอบคุณคู่ค้า พร้อมแนะนำประสิทธิภาพการทำงานของระบบซัพพลายเชนของบริษัทฯ โดยมีนายบุญนริศร์ สุวรรณพูล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล นายดนัย คาลัสซี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายซัพพลายเชน บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ในปีนี้บริษัทฯ ได้วางงบลงทุนกว่า 200 ล้าน เพื่อพัฒนาระบบ และ ขยายพื้นที่ โดยได้ดำเนินการขยายพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าบางนา กม.20 เพิ่มขึ้นอีก 3 ไร่ จากเดิม 15 ไร่ ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 18 ไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลรีเทล ทั้งในประเทศ ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ออฟฟิศดีโป เพจวัน และต่างประเทศ ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลหังโจว ประเทศจีน ซึ่งในปี 54 นี้ โรบินสัน จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในเครือ ที่จะย้ายคลังสินค้าโรบินสัน บางแค มารวมอยู่ที่ศูนย์ฯบางนาเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันเรามีบริษัทคู่ค้าที่ใช้บริการระบบ Logistic ของเซ็นทรัลรีเทลกว่า 3,800 บริษัท นอกจากนี้ยังได้เสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สู่ความเป็นเลิศ “The Best Logistics Services Excellence in Retail” อันประกอบด้วย 1.การพัฒนาปรับโครงสร้างพื้นฐาน (Mission Link Infrastructure) เป็นการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อลดปัญหาความแออัดตามเส้นทางที่เป็น Hub ทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่ง “XD Hub” (Crossdock Hub-ศูนย์กระจายสินค้าย่อย) ถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักในปีนี้ก็ว่าได้ จากการที่บริษัทฯได้มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณสินค้าที่จัดส่งเพิ่มมากขึ้น สินค้าที่ขายได้ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน จึงทำให้โอกาสของค่าขนส่งมีอัตราที่ ลดลง เนื่องจากบริษัทฯ ได้ใช้ยุทธวิธีขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก 18 ล้อ แล้วกระจายสินค้าต่อด้วยรถบรรทุก 6 ล้อ และ 4 ล้อ ไปยังสาขาต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และ ห้างสรรพสินโรบินสัน ในภาคเหนือและภาคใต้ ผลจากการดำเนินงานด้วยยุทธวิธีนี้ทำให้การบริหารการจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน และ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ เกิดการพัฒนาโครงข่ายและบริการสื่อสารโทรคมนาคมทีทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการให้บริการแก่ลูกค้า และที่สำคัญการขนส่งมีความคล่องตัว รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่ายุทธวิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าขนส่งสินค้าต่อเที่ยวได้มากถึง 10-15% นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเน้นพัฒนาบริหารจัดการด้านการนำเข้าและการส่งออกสินค้า เนื่องจากบริษัทฯ มีการขยายสาขาไปต่างประเทศ จึงวางระบบการบริหารเส้นทาง ตารางการนำเข้าทั้งทางเรือและอากาศ รวมถึงบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆในการนำเข้าสินค้า ควบคุมและตรวจสอบขั้นตอนในการเดินพิธีการศุลการกร พร้อมกำกับดูแลและควบคุมใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกภายใต้กฎระเบียบและประกาศจากกรมศุลกากร ติดตั้งขั้นตอนการดำเนินการส่งออก รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ประสานงานควบคุมการปฏิบัติงานกับโครงการในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯได้เปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลไปแล้ว 1 สาขาที่เมืองหังโจว และกำลังจะเปิดอีก 2 สาขา ที่เมืองเสิ่นหยาง ภายใต้ แบรนด์เซ็นทรัล และ เซน 2.ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ (Logistic Improvement) บริษัทฯ ได้ส่งเสริม พร้อมนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและโปรแกรมซอฟท์แวร์ WMS (Warehouse Management System)หรือที่เรียกว่าระบบโปรแกรมการบริหารจัดการคลังสินค้า เพื่อบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของบริษัทฯ เป็นการสนับสนุนภาคผลิต ภาคธุรกิจและภาคบริการ รวมถึงการจัดการพื้นฐานข้อมูลพร้อมกับการลดต้นทุนการผลิต (Logistic Cost Reduction) ด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์เชื่อมโยงถึงกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถตรวจสอบการเคลื่อนย้ายของสินค้าได้ การนำเอาซอฟท์แวร์การบริหารจัดการคลังสินค้ามาประยุกต์ใช้นั้นก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับและจัดส่งสินค้าไปยังสาขาต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความถูกต้อง ความรวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในศูนย์กระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการสนับสนุนการใช้รูปแบบและวิธีการบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน (Transport Energy Saving) การจัดการขนส่งที่ทันสมัยเพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนการขนส่ง นอกจากนี้แล้วเรายังมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบ Call Center ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งในปีนี้เราจะสนับสนุนให้คู่ค้าได้ทราบถึงข้อตกลงในการให้บริการร่วมกันต่อการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมองเห็นประสิทธิผลร่วมกันกับโครงการ Vendor Complainance 3.พัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กร บริษัทคู่ค้า และบริษัทในเครือเซ็นทรัลรีเทล ส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนและความร่วมมือเชิงพันธมิตร เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อันจะส่งผลถึงการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทั้งโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ จะได้มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กัน ด้วยการจัดงานมอบรางวัล “CRC Partnership Awards 2011” เพื่อพัฒนาความร่วมมือ โดยได้รับเกียรติจากคุณบุญนริศร์ สุวรรณพูล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัล นอกจากนี้ นายดนัย ยังได้กล่าวถึงภาพรวมโลจิสติกส์ไทยและปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปัจจุบันว่า“ ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้รับความสนใจมากขึ้นจากบุคคลหลายฝ่าย โดยภาครัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทยให้มีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีให้มีอัตราที่ลดลง แต่จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)พบว่าปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยยังคงมีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงถึงประมาณร้อยละ18 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญหลาย ๆประเทศ อาทิ สิงคโปร์,ฮ่องกง, จีน และมาเลเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ตัวเลขดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย (Logistics Performance Index : LPI) ธนาคารโลกระบุว่าในปี 2553 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ลดลงจากอันดับที่ 31 ในปี 2550 ชี้แสดงได้ว่าการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุน ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศในช่วงปี พ.ศ.2550-2554 ตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้เหลือเพียง 16% ต่อ GDP ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเสรีการค้า และ การก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEN Economic Community : AEC)ในปี 2558 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ภาคเอกชนให้ความสนใจเนื่องจากการเข้ามาลงทุนที่มากขึ้นจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ มีปัจจัยหลักดังนี้ 1.โครงสร้างพื้นฐานบางด้านยังพัฒนาอยู่อย่างจำกัด ระบบขนส่งทางราง ซึ่งยังมีสัดส่วนน้อยมาก การขนส่งทางทะเลที่ขาดท่าเรือน้ำลึก ทำให้ขาดการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งแบบต่าง ๆ ทำให้วิธีการขนส่งหลัก ๆ ในประเทศไทยยังคงเป็นการขนส่งทางถนนซึ่งมีต้นทุนสูง 2.ขาดการนำเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และความรู้มาใช้ ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ยังมิได้นำเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และความรู้ด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มาใช้ในระบบโลจิสติกส์มากนัก 3.ความเสี่ยง ทางการเมือง และสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศ ความเสี่ยงทางการเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลดโอกาสการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยความไม่สงบทางการเมือง ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ชะลอการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เป็นต้น นายดนัย กล่าวทิ้งท้าย “เรามั่นใจว่าการพัฒนาระบบขนส่ง การบริหารคลังสินค้า พร้อมกับการประสานความร่วมมือกับบริษัทคู่ค้าต่างๆ ของเซ็นทรัลรีเทลอย่างบูรณาการจะส่งผลให้บริษัทฯ มีประสิทธิภาพ ในการแข่งขันทางการตลาดมากยิ่งขึ้น และครองอันดับ 1 ธุรกิจค้าปลีก ตลอดไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ