กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สกว.
ผลวิจัยเรื่อง บทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย ระบุ การลงทุนของบริษัทข้ามชาติสร้างผลดีกับประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอื่น ๆ แต่เมืองไทยยังมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติน้อยมากและไม่สมบูรณ์ มีกฎ กติกาที่ไม่ชัดเจน ปฏิบัติไม่ได้ เสนอหากอยากเห็นบทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยต้อง ทำให้ออกจากที่มืด เผยตัวตนด้วยการจดทะเบียนให้ถูกต้องและเป็นบริษัทข้ามชาติจริง ๆ ที่ไม่ใช่ข้ามชาติสัญชาติไทย
ทั้งนี้ จากการสัมมนานำเสนองานวิจัยเรื่อง บทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดขึ้น โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาเฉพาะในภาคการผลิตและบริการ 7 ประเภท คือ กฎหมาย บัญชี พลังงาน ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป และกิจการขยายเมล็ดพันธุ์ เพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหตุผลในการลงทุนและปัญหาอุปสรรค ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะผู้ทำการวิจัย ได้นำเสนอโดยให้นิยาม “บริษัทข้ามชาติ” หมายถึง เป็นบริษัทที่อำนาจในการบริหารจัดการตกอยู่กับบริษัทแม่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติในต่างประเทศ (ถือหุ้นข้างมาก/ข้างน้อย/ถือหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อม) บริษัทแม่จะต้องประกอบธุรกิจในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 ประเทศขึ้นไป และธุรกิจหลักของบริษัทแม่จะต้องเป็นธุรกิจเดียวกับบริษัทลูกในประเทศไทย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ การถือหุ้นของคนต่างด้าว ใน กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และ การจัดเก็บภาษีบริษัทต่างชาติ สนธิสัญญาหรือความตกลงต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญาภาษีซ้อน สนธิสัญญาการลงทุน หรือความตกลงการค้าเสรี
โดยภาพรวมการประกอบกิจการของบริษัทต่างชาติ มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 700 บริษัท มีบริษัทที่มีต่างชาติมีอำนาจบริหาร 55 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมร้อยละ 17.48 ของมูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียน กลุ่มบริการและเทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งมูลค่าตลาดสูงถึงร้อยละ 65.07 และในสาขาบริการ (ศึกษาเพียง 9 สาขา) ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทต่างชาติในธุรกิจโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 82 รองลงมาคือธุรกิจไฮเปอร์มาเก็ตและธุรกิจโลจิสติกส์ ส่วนธุรกิจบัญชีและกฎหมายมีส่วนแบ่งตลาดน้อย เนื่องจากเป็นอาชีพสงวนเฉพาะสำหรับคนไทย
การเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตและบริการของบริษัทข้ามชาติ พบว่า ในภาคการผลิตบริษัทข้ามชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% แต่ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในภาคบริการ (เฉพาะบัญชีและกฎหมาย) โดยธุรกิจบัญชี มักถือหุ้นลักษณะ member ส่วนกฎหมายถือหุ้นแบบ Foreign control โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดคือญี่ปุ่นลงทุนในภาคการผลิต 4 สาขา นอกนั้นก็มีสหรัฐฯ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ส่วนบริษัทบัญชีและกฎหมายคนไทยถือหุ้นข้างมากเพราะเป็นอาชีพสงวน ที่ห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 49%
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า การศึกษานี้เป็นโครงการแรก ๆ ที่พยายามดูว่ามีอะไรบ้างเกี่ยวกับบริษัทต่างชาติ แล้วข้อบกพร่องข้อมูลมันขาดตรงไหน ฐานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างชาติในประเทศไทยมีน้อยมากและไม่สมบูรณ์ ทั้งที่บริษัทข้ามชาติมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 20-25 ในหลายธุรกิจที่ศึกษาซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและแสดงว่ายังต้องพึ่งพิงบริษัทต่างชาติ บริษัทข้ามชาติเป็นแหล่งการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่รัฐที่สำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดการผูกขาดของธุรกิจไทยในบางอุตสาหกรรม เช่นใน ธุรกิจเมล็ดพันธุ์และอาหารกระป๋อง ที่คนไทยยังผูกขาดอยู่ การกีดกันต่างชาติก็ต้องถามว่าจริง ๆ แล้วต้องการคุ้มครองใคร ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชหรือเกษตรกร หากจะคุ้มครองเกษตรกรก็ควรให้ต่างชาติเข้ามา
บริษัทต่างชาติส่วนมากประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ยกเว้นธุรกิจที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีสูง เช่นการขุดเจาะปิโตรเลียม บริษัทต่างชาติได้เปรียบบริษัทไทยทั้งในด้านเทคโนโลยีในการผลิต และด้านข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและเครือข่าย บริษัทไม่ว่าไทยหรือต่างชาติมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงหากต้องส่งออกสินค้าไปประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่ดีกว่าประเทศข้างเคียง โดยเฉพาะในเรื่องของขนาดของตลาด เสถียรภาพทางการเมือง นโยบายที่ค่อนข้างเสรี (ในทางปฏิบัติ) และความน่าอยู่สำหรับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ แต่ปัญหาหลักคือ ความไม่แน่นอนของกฎ กติกาต่าง ๆ ที่ให้อำนาจดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมาก และกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ
การศึกษานี้มีข้อเสนอแนะ 3 เรื่อง คือ 1) การปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติ รัฐจำเป็นต้องปรับปรุงข้อจำกัดในบัญชี 3 ของ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อที่จะให้บริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเปิดเผยตนว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว รัฐควรกำหนดนิยามของบริษัทข้ามชาติที่ชัดเจนและกำหนดให้บริษัทที่มีลักษณะเป็นบริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติทุกรายต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ว่าจะประกอบธุรกิจในสาขาใดก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้าควรตรวจสอบความถูกต้องความทันการณ์และความสมบูรณ์ของข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและฐานข้อมูลอื่น ๆ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าควรให้บริการฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนแก่ประชาชนในราคาที่เป็นธรรม หน่วยงานภาครัฐควรปรับปรุงวิธีการแบ่งหมวดอุตสาหกรรมสำหรับข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
2) การปรับปรุง กฎ กติกาการกำกับดูแล ได้แก่ ควรมีการรวบรวมและทบทวนกฎ กติกาที่กำกับการประกอบธุรกิจของคนและบริษัทต่างชาติที่มีอยู่ทั้งหมด ประเมินผลการบังคับใช้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเมินประโยชน์/ผลเสียที่เกิดจากการบังคับใช้กฎ กติกาเหล่านั้นในเชิงปริมาณ และในเชิงคุณภาพที่มีหลักฐานข้อมูลสนับสนุนอย่างชัดเจน เปรียบเทียบ กฎ กติกากับประเทศข้างเคียง เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน ว่าเหมือนหรือแตกต่างจากของไทยอย่างไร เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง กฎ กติกาเพื่อ ลดอำนาจแห่งดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย ลดระเบียบ ขั้นตอนที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ และเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
3) การปรับปรุงนโยบาย ได้แก่ ยกเลิกข้อห้ามการลงทุนแบบ “ครอบจักรวาล” ที่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่เปิดรับการลงทุนในทางปฏิบัติและไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและคนไทย บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจไม่ว่าไทยหรือต่างชาติย่อมมีแรงจูงใจที่จะประหยัดต้นทุนหากไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า จะเห็นว่าปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่ามีบริษัทข้ามชาติจำนวนเท่าไหร่ เพราะข้อมูลที่ไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ จึงควรต้องทำเรื่องนี้เป็นอันดับแรก ทำให้บริษัทเหล่านี้เผยตัวออกมาว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วจึงไปติดตาม เพื่อได้ข้อมูลอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ เช่น เรื่องการลงทุน การจ้างงาน รายได้ และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง แทนการทำนโยบายบนความไม่รู้ อย่างเรื่องการลงทุนจากที่ศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ พบว่าเขาไม่ได้ห้ามแต่ใช้วิธีระบุสาขาที่ปิดไว้ แล้วใช้วีธีการกรั่นกรองการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ถ้าจะมีการลงทุนเกิน 1,000 ล้านอาจจะมีความเสี่ยงเขาต้องขอพิจารณาดูก่อน ซึ่งต่างจากของไทยที่เขียนกฎหมายปิดหมดแบบครอบจักรวาลไปเลย อย่างเดียวที่จะช่วยประเทศไทยได้มาก คือ การตัดคำว่า “บริการอื่น ๆ “ ในบัญชี 3 ของ พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวออกไป ก็จะช่วยได้มาก.