กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สป.
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 54 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ สภาที่ปรึกษาฯ จัดแถลงข่าวข้อมูลสาระสำคัญ เกี่ยวกับ การยื่นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย” เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดที่บุกรุกที่สาธารณะ ด้วยการจัดทำผังเมืองเพื่อป้องกันการอพยพของประชาชนเข้ามาในพื้นที่
โดยมีนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน และ นายประทีป ตั้งมติธรรม รองประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังการเสนอเรื่องต่อ นรม.
นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาฯ ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาของความต้องการที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคในประเทศไทยที่ผันแปรตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และด้วยเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การขาดแคลนวัตถุก่อสร้างโดยเฉพาะไม้ ปัญหาเศรษฐกิจและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยยังคงขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า การขาดแคลนที่ดิน และระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่อย่างจำกัด ก่อให้เกิดแหล่งเสื่อมโทรมและชุมชนแออัดในเมืองต่างๆ อันเป็นต้นเหตุของ การเกิดอาชญากรรม ยาเสพติด และปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย” และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554
นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน ในฐานะประธานจัดทำความเห็นเรื่อง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย กล่าวว่า คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ โดยรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการศึกษาดูงานสภาพพื้นที่จริงเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากชุมชนต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2553
รวมถึงการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ด้านนายประทีป ตั้งมติธรรม รองประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
จากข้อมูลของกรมการปกครองที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553 ว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 63,525,062 คน อยู่ในเขตเทศบาล 21,143,975 คน (ร้อยละ 30) อยู่นอกเขตเทศบาล 42,165,371 คน (ร้อยละ 70) มีจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศทั้งสิ้น 74,944 หมู่บ้าน จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ (ร้อยละ 70) ซึ่งอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากคุณภาพที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคในสังคม
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐควรให้การช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่มบุคคลใน 3 กลุ่ม คือ
1.คนจนในชนบท
2.คนจนในเมือง
3.ผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อยตามหัวเมืองภูมิภาคต่างๆ
กลุ่มคนเหล่านี้ยังขาดปัจจัยในการสร้างที่อยู่อาศัยในหลายด้าน เช่น วัสดุก่อสร้างมีราคาแพง จึงมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำมาเป็นวัสดุก่อสร้าง, ไม่สามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้, มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แออัด, เมืองในภูมิภาค ไม่อยู่ในข่ายของการบริการของการเคหะแห่งชาติ, รัฐส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยสำหรับหัวเมือง ไม่เทียบเท่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นต้น
ทั้งนี้ข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯ ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย มีดังนี้
1. ควรกำหนดนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ และการกำหนดกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะการออกกฎหมายและวางมาตรการเพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำเรื่องของระบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นวาระสำคัญในการกำหนดนโยบายของท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ควรกำหนดนโยบายมาตรฐานเฉพาะสำหรับที่อยู่อาศัยและชุมชนในย่านที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ มีคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและมีความหมายต่อชุมชน เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และบริบทเฉพาะชุมชน และมีความสอดคล้องกับกฎหมายข้อบังคับที่เป็นที่ยอมรับและสามารถปฏิบัติได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในชนบท ควรดำเนินการ ดังนี้
3.1 ควรส่งเสริมให้ประชาชนสร้างบ้านด้วยบล็อกประสานดินซีเมนต์โดยใช้เทคโนโลยีของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แทนบ้านไม้ เพื่อมิให้เกิดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้จากการประชุมระดมสมองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ประชาชนพอใจในบล็อกประสานดินซีเมนต์ เพราะมีความแข็งแรง ทนทาน อยู่เย็นสบาย และประหยัดพลังงาน แต่มีปัญหาที่มีแหล่งผลิตน้อย แต่ละก้อนมีน้ำหนักมาก จึงไม่เหมาะกับการขนส่งระยะทางไหล
3.2 ควรส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตบล็อกประสานภายในประเทศ โดยใช้มาตรฐานการผลิตที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเป็นประเทศไทยเป็นผู้กำหนด
3.3 ควรส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตบล็อกประสานดินซีเมนต์ โดยผ่านกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณการจัดหาชุดเครื่องจักรทำบล็อกประสานดินซีเมนต์ให้ด้วยร้อยละ 50 มาตรการนี้ นอกจากจะลดการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้าง OTOP ในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างแบบบ้านบล็อกประสานที่เป็นต้นแบบในพื้นที่ที่จะดำเนินการสร้าง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน รวมถึงการส่งเสริม การออกแบบบ้านและการก่อสร้างอาคารด้วยบล็อกประสานจากรัฐอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น การประกาศบังคับใช้
3.4 ต้องส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์บล็อกประสานและรับรองบล็อกประสานเป็นวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับวัสดุก่อสร้างทั่วไป
3.5 ควรกำหนดนโยบายและส่งเสริมให้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับบ้านชนบทหลังละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งจะผ่อนชำระไม่เกินเดือนละ 800 บาท (เพื่อไม่ให้ก่อหนี้มากเกินไป)
3.6 ควรจัดกรอบงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย ไปสู่โครงการบ้านมั่นคงเพิ่มขึ้น
3.7 ควรส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำกรอบงบประมาณเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากไร้ และผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ
3.8 ควรส่งเสริมการใช้นวัตกรรมอื่นๆ ในการก่อสร้างบ้าน นอกเหนือจากบล็อกประสาน เช่น ไม้ไผ่ (นวัตกรรม MTEC) ผลิตภัณฑ์จากยางรถยนต์ใช้แล้ว (นวัตกรรมของบริษัทร่วมทุนอังกฤษ) ไม้ยางพารา (นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
4. เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ควรดำเนินการ ดังนี้
4.1 ควรดำเนินมาตรการป้องกันการบุกรุกสร้างบ้านในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการจัดทำผังเมือง และแสดงขอบเขตที่ชัดเจน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อป้องกันการอพยพของประชาชนเข้ามาในพื้นที่ เพราะเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรแล้วก็ยากที่จะดำเนินการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที
4.2 รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งประชาชนในชุมชน ต้องจัดประชาคมร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะ พัฒนา และจัดสรรที่ดินในบริเวณใกล้เคียงที่เหมาะสมในการสร้างที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อย ควรดำเนินการ ดังนี้
5.1 ควรส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดให้เหมือนบ้านจัดสรร คือไม่เกินหน่วยละ 1,200,000 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดการใช้พลังงานในการเดินทางด้วยรถยนต์จากชานเมืองสู่ใจกลางเมือง
5.2 ควรส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อยในหัวเมืองภูมิภาค ให้เหมือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ ไม่เกินหลังละ 1,200,000 บาท ทั้งอาคารชุดและบ้านจัดสรร (คิดเป็นเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดหย่อนประมาณ 50,000 บาท ต่อหน่วย ซึ่งน้อยกว่าการอุดหนุนของรัฐที่ให้การเคหะแห่งชาติ 80,000 บาท ต่อหน่วย)
ทั้งนี้ภายหลังการแถลงข่าว นายโอกาสฯ กล่าวว่า หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาต่อ และเร่งให้มีการดำเนินการตามที่สภาที่ปรึกษาฯ เสนอ ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดช่องว่างและสร้างความเสมอภาคทางสังคม เพราะการได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยถือเป็นความสำเร็จของบุคคล ทั้งในมุมมองของบุคคลนั้นและในมุมมองของสังคมโดยรอบ ทำให้บุคคลตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และมีความหวังที่จะพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น อีกทั้งการได้อยู่อาศัยในชุมชนที่ดี ยังเป็นการช่วยลดปัญหาเยาวชนและปัญหาอาชญากรรมอีกด้วย