กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรุชมชน (พอช.)จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาการจัดสวัสดิการชุมชน ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ และมอบทุนสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมอบนโยบายสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนแก่คณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) พร้อมมอบทุนสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน ครั้งที่๕ แก่ผู้แทนองค์กรสวัสดิการชุมชน ๑,๕๘๗ องค์กร วงเงิน ๒๖๐.๘ล้านบาท ในวันศุกร์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐-๑๔.๐๐ น. ณ ตึกบัญชาการ ๑ ห้อง ๕๐๑ และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาการจัดสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน โดยยกระดับให้สวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงของชุมชนฐานราก ฟื้นฟูทุนทางสังคม ความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และได้ประชุมมอบนโยบายแก่ผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่สามารถจัดตั้งและพัฒนาคุณภาพสวัสดิการชุมชน ตามหลักการสำคัญ คือ“การให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้นำนโยบายการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนไปดำเนินการให้เกิดผล ได้ติดตามและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลายจังหวัดสามารถจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้เกินร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ โดยจากผลการดำเนินงานตามโครงการฯ ตั้งแต่มกราคม ๒๕๕๓ — มีนาคม ๒๕๕๔ ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ๗๖ จังหวัด จำนวน ๓,๑๗๐ กองทุน ครอบคลุมสมาชิก ๑,๔๐๗,๑๑๒ คน วงเงินสมทบ ๕๔๒,๙๑๕,๑๑๙ บาท และมีเงินกองทุนจากสมาชิกรวม ๘๘๘,๖๔๒,๖๘๐ บาท
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การขยายกองทุนให้ครอบคลุมคนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการชุมชน โดยจะต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสร้างแกนนำภาคประชาชนในทุกระดับ ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงาน การจัดการประชุมคณะกรรมการฯ และมอบงบประมาณสมทบสวัสดิการชุมชน ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนได้มีโอกาสมาเรียนรู้ร่วมกัน และเข้ารับงบประมาณสมทบสวัสดิการชุมชนจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีจำนวนกองทุนที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกและพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของโครงการรวม ๑,๕๘๗ กองทุน และมีจังหวัดที่จัดตั้งสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ จำนวน ๑๙ จังหวัด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันความมั่นคงอย่างทั่วหน้า โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ประเทศไทยจะมีระบบสวัสดิการสังคมที่ชัดเจนครอบคลุมทั่วถึง เป็นธรรม และมีความเชื่อมโยงแต่ละระบบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มบทบาทของประชาชนในการจัดการชุมชนท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของสิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีความสามารถในการบริหารและเอื้ออำนวยให้ชุมชนได้มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องสวัสดิการพื้นฐานในระดับชุมชน โดยเป็นฐานรากที่สนับสนุนส่งเสริมให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้ตัดสินใจพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง นำไปสู่การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นในงานพัฒนาด้านอื่นๆ และจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ในที่สุด ดังนั้น เพื่อให้มีการจัดตั้งสวัสดิการชุมชนที่มีคุณภาพครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ ได้แก่ ๑. ภาคประชาชน โดยเฉพาะขบวนองค์กรสวัสดิการชุมชน ต้องสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งทั้งในระดับตำบล จังหวัด ภาค และประเทศ ร่วมมือกันส่งเสริมจัดตั้งและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้ครบทุกพื้นที่ โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองสว่นท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบสวัสดิการที่ เอื้อต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในทุกด้าน ๒. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็งมั่นคง โดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการมากที่สุด ๓. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพใหญ่ในจังหวัด ในการสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๔. กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะกระทรวงที่รับผิดชอบนโยบายสวัสดิการสังคม ต้องจัดระบบและบูรณาการสวัสดิการสังคมต่างๆ ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกัน โดยเน้นการส่งเสริมบทบาทของชุมชนท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งสวัสดิการชุมชนให้มีบทบาทในการดำเนินงานระดับพื้นที่
“ระบบสวัสดิการชุมชน จะเป็นตัวบูรณาการงานสวัสดิการสังคมในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างจิตสำนึกในการสร้างสังคมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บนหลักการให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อสร้างระบบสวัสดิการที่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของท้องถิ่น มีระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใส สร้างความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและการปฏิรูปประเทศไทยในที่สุด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.