กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. กล่าวโทษนายวิชัย ชัยสถาพร อดีตผู้บริหาร NIPPON เพิ่มเติมกรณีทุจริตต่อทรัพย์สินของบริษัทและขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของนายวิชัย ตามคำสั่งของศาลอาญา
ก.ล.ต. กล่าวโทษนายวิชัย ชัยสถาพร อดีตประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทนิปปอนแพ็ค(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“NIPPON”) เพิ่มเติมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในความผิดฐานทุจริตยักยอกทรัพย์สินบริษัทรวมเป็นเงินประมาณ 57.7 ล้านบาท และจัดทำเอกสารลงบัญชีเป็นเท็จ โดยพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2552 ถึงปี 2553 ซึ่งในขณะเกิดเหตุนายวิชัยเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัท ทั้งนี้ เป็นการกล่าวโทษเพิ่มเติมจากที่ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายวิชัยไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 กรณีทุจริต ยักยอกทรัพย์สินของบริษัทรวมเป็นเงินประมาณ 179.6 ล้านบาท
พฤติกรรมทุจริตที่ ก.ล.ต. ตรวจพบเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับที่ตรวจพบในครั้งก่อน คือนายวิชัยได้ปลอมแปลงเอกสารสั่งซื้อหลักทรัพย์ เพื่อลวงให้ NIPPON ชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีการซื้อหลักทรัพย์นั้นจริง แต่เป็นการทุจริตอำพรางเพื่อให้สามารถนำเงินของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว คิดเป็นมูลค่า 37.7 ล้านบาท รวมทั้งนายวิชัยยังได้ใช้ชื่อบริษัทติดต่อขออนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นในนามบริษัทให้กับสถาบันการเงินนั้นแต่กลับนำเงินกู้ที่ได้รับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ NIPPON ได้รับความเสียหายอีก 20 ล้านบาทการกระทำดังกล่าวของนายวิชัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
การกระทำของนายวิชัยข้างต้น ทำให้ NIPPON บันทึกบัญชีแสดงเงินลงทุนในหลักทรัพย์เป็นเท็จ จัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทปลอม และบันทึกบัญชีเงินกู้ยืมของ NIPPON ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงผิดเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน และน่าเชื่อถือของเอกสาร รายงาน และบัญชีของ NIPPON ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ด้วย
ในกรณีเดียวกันนี้ ก.ล.ต. พบว่า เลขานุการบริษัท NIPPON ในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท เป็นผู้พิมพ์และลงนามในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทเองทั้งที่รู้ว่าไม่ได้มีการประชุมจริง ทำให้นายวิชัยสามารถนำไปใช้ประกอบการกระทำการทุจริตข้างต้นได้ก.ล.ต. จึงได้ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวของเลขานุการบริษัทเข้าข่ายเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือนายวิชัยในการทุจริตด้วยหรือไม่
สำหรับการป้องกันการยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของนายวิชัย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของนายวิชัย ออกไปอีก 90 วัน จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2554ซึ่ง ก.ล.ต. ได้แจ้งคำสั่งศาลอาญาดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามคำสั่งของศาลอาญาแล้ว
อนึ่ง การกล่าวโทษเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งผู้ถูกกล่าวโทษยังมีสิทธิจะพิสูจน์การกระทำของตัวเองได้ต่อไป