กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สานต่อยุทธ์ศาสตร์เชิงรุกด้านยาและวัคซีน มุ่งพัฒนาระบบในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจำเป็นที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทเภสัชกรในงานบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดความสูญเสียด้านยา และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานประชุม เรื่อง “การบริหารจัดการยาและวัคซีนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เมื่อเร็วๆนี้ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นอย่างทั่วถึง และมีความมั่นใจในคุณภาพ โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมยาจำเป็นมากขึ้น ทั้งกลุ่มยาราคาแพงและกลุ่มยาที่มีการใช้น้อย และพัฒนาระบบการบริหารจัดการเฉพาะเพื่อให้หน่วยบริการมียาเหล่านี้รองรับสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เภสัชกรประจำหน่วยบริการจัดเป็นบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จึงจัดการประชุมให้กับเภสัชกรประจำหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศขึ้น โดยแยกจัดในกรุงเทพฯและภูมิภาครวม 5 ครั้ง
ในปีงบประมาณ 2554 นี้ 5 ยุทธศาสตร์ด้านยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ 1. พัฒนานโยบายการจัดหาและกระจายยาที่จำเป็นให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2. พัฒนาระบบข้อมูลด้านยาเพื่อเอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนา กำกับและติดตามการใช้ยาอย่างเหมาะสม 3. เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความเหมาะสมในการสั่งใช้ยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นในการมีบทบาทและเข้าร่วมในการบริหารจัดการระบบยา และ 5. เสริมสร้างประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดหาและจ่ายชดเชยค่ายาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้เป็นสื่อกลางประสานความร่วมมือให้เภสัชกรมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินการเพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน ทำให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านยาเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากนโยบายการจัดหาและกระจายยาที่จำเป็นให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยลดขั้นตอบการขนส่งที่ซับซ้อน ทำให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการได้รับยาเร็วขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญในการประกันคุณภาพยาในขั้นตอนต่างๆ เช่น การติดตั้งเครื่องบันทึกอุณหภูมิ
ระหว่างการขนส่งวัคซีน เป็นต้น ทำให้ประชาชนได้รับยาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ การพัฒนาระบบข้อมูลด้านยา จะเป็นประโยชน์กับเภสัชกรในการพัฒนา กำกับและติดตามการใช้ยา ทำให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ลดการสูญเสียด้านยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภก.วิพิน กาญจนการุณ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า การบริหารจัดการและการกระจายยา และการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับยา จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะ สมาคมฯ จึงสนับสนุนให้เภสัชกรแสดงบทบาทความรับผิดชอบทางวิชาชีพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคุณภาพยา ส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้มีการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาด้วย นอกจากนี้ สปสช.ยังมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการทำงานวิชาชีพเภสัชกรรมร่วมกับสหสาขาวืชาชีพอื่นในศูนย์บริการด้านการแพทย์ใกล้บ้านตามเขตต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นในการรักษาได้อย่างคุ้มค่า และปลอดภัย ช่วยประหยัดมูลค่าของค่าใช้จ่ายด้านยาได้ในภาพรวม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมฝ่ายประชาสัมพันธ์ 0-2718-3800 ต่อ 132/136