กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ก.แรงงาน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เห็นชอบให้นำประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 11 สาขาอาชีพ โดยจะมีผลหลัง 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นเครื่องมือวัดที่สำคัญในการช่วยพัฒนากำลังแรงงานไทยให้มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาในปี 2549 - 2553 มีผู้สนใจเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 11 สาขาอาชีพนี้ จำนวน 62,425 คน และผ่านการทดสอบ 48,530 คน สำหรับในปี 2554 นี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งเป้าหมายผู้เข้าทดสอบไว้ที่ 20,000 คน โดยได้เตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว สำหรับกำลังแรงงานที่ยังไม่มั่นใจในการทดสอบยังสามารถสมัครรับเข้ารับการฝึกให้มีองค์ความรู้และทักษะก่อนที่จะเข้าทดสอบได้ อาทิเช่น กลุ่มอาชีพภาคบริการ กลุ่มอาชีพช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และกลุ่มอาชีพช่างเครื่องกล
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญของการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ถือได้ว่าเป็นมาตรการหนึ่งของนโยบายค่าจ้าง เพื่อให้แรงงานที่มีฝีมือและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ส่วนผู้ประกอบการจะได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ดังนั้นสถานประกอบการจำเป็นต้องส่งเสริมให้พนักงานเห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือตามมาตรฐานระดับ 1,2,3 และพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นการเพิ่มมาตรฐานของสินค้าให้เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค รวมทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
สำหรับอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน 11 สาขาอาชีพ มีดังนี้
สาขา หน่วย: บาท/วัน
1. ช่างซ่อมรถยนต์ ระดับ 1-3 275-445
2. ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1-3 335-505
3. ช่างสีรถยนต์ระดับ 1-3 315-445
4. ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1-3 300-500
5. ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ระดับ 1-3 300-500
6. ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1-3 300-500
7. ช่างอิเล็กทรอนิกส์ (โทรทัศน์) ระดับ 1-2 300-400
8. ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์ ระดับ 1-3 300-500
9. ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1-2 280-360
10. พนักงานนวดไทย ระดับ 1-3 310-510
11. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (หัตถบำบัด) ระดับ 1-2 350-460
ทั้งนี้ ผู้สนใจที่ต้องการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฯ ทั้ง 11 สาขาอาชีพ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 แห่ง และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดจำนวน 64 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแล้ว จำนวน 107 แห่งทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ ได้ทางเว็บไซต์ www.dsd.go.th