ททท. เชิญชมการแสดงนาฏศิลป์ 4 ภาค

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday March 28, 2007 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--พีอาร์ เน็ตเวิร์ค คอนซัลแตนท์
ในแต่ละปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติเชียงใหม่ขึ้น เพื่อนำเสนอการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวล้านนา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน (วันอนุรักษ์มรดกไทย) ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นสสากลของเชียงใหม่ อันเป็นเมืองแห่งศิลปะ และวัฒนธรรมล้านนาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และสากล
สำหรับในปีนี้ ซึ่งครบรอบ 10 ปีของงานเทศกาลดังกล่าว ททท. ได้นำเสนอการแสดงศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อสืบทอดตำนานแห่งวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา ผสมผสานกับการแสดงจากศิลปินนานาชาติ ตลอดจนร่วมกับองค์วัฒนธรมท้องถิ่น ในการนำเสนอกิจกรรมรอบตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีความน่าสนใจ จนน่าเยี่ยมเยือนก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะเกิดขึ้น
นายดิษฐ์ โพธิยารมย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการแสดงภายในงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติเชียงใหม่ มาตั้งแต่เริ่มต้น โดยในช่วงแรก ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้จัดการแสดงในรูปแบบที่มีความหลากหลาย โดยนำเสนอการแสดงของภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวยังเมืองเชียงใหม่ และชาวเชียงใหม่ได้เห็นความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมอันงดงาม
โดยในปีนี้ ทางวิทยาลัยฯ ได้นำการแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ภาคต่าง ๆ มานำเสนอ เพื่อให้ได้อารมณ์และการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของภาคตนเองอย่างลึกซึ้ง โดยปีนี้เราได้รับเกียรติจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด สำหรับการนำเสนอการแสดงวัฒนธรรมจากถิ่นอีสาน จากปีที่แล้วที่ผู้ชมสนุกสนานกับการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นตัวแทนการแสดงของคนไทยภาคกลาง และวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง ที่จะนำการแสดงของวัฒนธรรมชาวใต้ ทั้งภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่างมาให้ได้ชมกันอย่างครบอรรถรส ในระหว่างวันที่ 2 — 4 เมษายน 2550 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
ทั้งนี้ ในส่วนของวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่ จะจัดการแสดงขึ้นในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2550ซึ่งตรงกับวันอนุรักษ์มรดกไทย และเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเทพฯ วิทยาลัยได้จัดแสดงโดยแบ่งรูปแบบการแสดงออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน โดยในช่วงแรกเป็นการรำถวายพระพร เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยใช้บทประพันธ์ของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ และเพิ่งเสียชีวิตไป ช่วงที่ 2 จะเป็นชุดเบิกโรง ภายใต้ชื่อชุด พระคเณศประทานพร เพื่อความเป็นสิริมงคลของการจัดงาน ช่วงที่ 3 เราจะนำเสนอในรูปแบบยกชุด โดยใช้ความหลากหลายของชาติพันธุ์เป็นเนื้อหาหลัก จากนั้นก็จัดการแสดงให้สอดคล้องกับชาติพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ภายใต้ชื่อชุดว่า เชียงใหม่แก้วธานี งามหลากสีศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะกล่าวถึงเรื่องราวของพญามังรายตั้งแต่มาสร้างเมืองลพบุรีศรีนครพิงค์แห่งนี้ ตลอดจนเรื่องของชนชาติต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง ไทลื้อ ไทใหญ่ หรือแม้แต่กลุ่มชาวไทยภูเขาต่าง ๆ
สำหรับภาคกลาง ซึ่งจัดแสดงในวันอังคารที่ 3 เมษายน 2550 จะเน้นเรื่องเพลงพื้นบ้านในสมัยก่อน ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วสันตฤดู ตลอดจนการแสดงที่กล่าวถึง รามสูร - เมขลา และการที่ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล วิถีชีวิตของชาวนา ตั้งแต่การเริ่มหว่านข้าว ปลูกข้าวทำนา การเก็บเกี่ยว นำเสนอผ่านความสนุกสนานของเพลงและการแสดงพื้นบ้านภาคกลาง จากนั้น ปิดท้ายด้วยกลองยาวผู้หญิง
สำหรับภาคอีสาน แบ่งการแสดงออกเป็น 5 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นการเปิดวงเล่นกลอง มีการแสดงประเภทชุด เช่น อุทัยสามเผ่า ช่วงที่ 2 ชื่อชุด “ส่องมองวิถี” เป็นการฟ้อนดึงครก ดึงสาก ระบำชนไก่ และชุดไหมไทยอีสาน ช่วงที่ 3 ชุด “ประเพณีเมืองเกินร้อย” ซึ่งจะกล่าวถึงประเพณีบุญเผวส หรือ บุญเดือนสี่ ที่มีลักษณะเด่น คือ “การเทศน์มหาชาติ” มีการแสดงประกอบแสงสีเสียง ตอนชูชกท้องแตก และชุดมาฆะบูชา ช่วงที่ 4 เป็นการแสดงชุดงามอ่อนช้อยอีสาน อาทิ ฟ้อนตั่งหวาย กั๊บแก๊บรำเพลิน และสุดท้าย ช่วงที่ 5 เป็น “ลานใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งจะเป็นขบวนบายสีอีสานที่มาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับภาคใต้ เป็นการแสดงที่ผสมผสานกันระหว่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งภาคใต้ตอนบน จะเปิดวงด้วยดนตรีพื้นบ้าน กล่าวถึง ตำนานมโนห์รา จากนั้น จะเป็นระบำต่าง ๆ การแสดงของภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย ลิเกฮูลู ระบำตารีกีปัส และชุดสุดท้าย คือ การผสมผสานการแสดงของภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง ภายใต้ชื่อชุด “ระบำอาภรณ์พิไลไทยมุสลิม”
ทั้งนี้ นายดิษฐ์ ได้เล่าให้ฟังถึง บทบาทของวิทยาลัยนาฏศิลป์ต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามแห่งแผ่นดินล้านนา ว่า “บทบาทของวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 โดยการศึกษาวิจัยในช่วงแรกที่เรามุ่งเน้น คือ การอนุรักษ์ในด้านศิลปวัฒนธรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง กล่าวคือ ช่วงแรก คือช่วงของการอนุรักษ์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในระยะเริ่มต้น ตลอดจนดำเนินการสำรวจพื้นที่ ซึ่งเราพบว่า มีการแสดงที่มีลักษณะเด่นอยู่ 2 ลักษณะ คือ การแสดงที่สืบทอดมาจากวัง และการแสดงจากพื้นบ้าน
การแสดงที่สืบทอดมาจากวัง เราเชิญครูบาอาจารย์ที่ได้รับการสืบทอด อาทิ เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ คุณป้าสัมพันธ์ โชตนา และมีบางท่านที่เราได้สอบถามข้อมูล เช่น ป้านวลฉวี เสนาคำ ในส่วนการแสดงสายพื้นบ้าน เรามี เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ครูคำ กาไวย์ ครูมานพ ยาระนะ ซึ่งแต่ละท่านต่างเป็นบุคคลสำคัญที่ทำการอนุรักษ์อยู่ในแต่ละพื้นที่ เราได้เชิญให้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยฯ เพื่อทำการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมทั้งจากในวัง และพื้นบ้านต่อไป
จากนั้น จึงได้มีการสืบทอดงานของพระราชชายา โดยมีการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ฟ้อนเมืองในรูปแบบนราชสำนัก ฟ้อนเมืองของพระราชชายา ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนม่านแม่แล้ อันเป็นชุดการแสดงที่เกือบสูญสิ้นไปแล้ว ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการพูดถึงและนำคนเก่า ๆ มารื้อฟื้น นับได้ว่าเป็นงานอนุรักษ์อีกชุดหนึ่งของทางวิทยาลัยฯ และได้นำไปเผยแพร่ ในอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มของพื้นบ้าน ทางวิทยาลัยฯ ได้พยายามไปเก็บมาจากในพื้นที่ ตลอดจนได้พ่อครูคำ กาไวย์ และพ่อครูมานพ ยาระณะ ซึ่งทั้งสองท่านได้เป็นหลักในการสืบค้น การแสดงพื้นบ้าน อาทิ ฟ้อนสาวไหม กลองสบัดชัย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง นกกิงกาลา ฟ้อนไต
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงชุดที่ทางวิทยาลัยฯ ได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่าง ระบำชาวเขา ซึ่งเป็นการแสดงเลียนแบบชาวเขา ได้มีโอกาสนำเสนอครั้งแรกในงานสายใจไทย จังหวัดเชียงใหม่ รูปแบบของดนตรี เป็นการนำสำเนียงเพลงชาวเขาไปแต่ง โดยมีคุณป้าสัมพันธ์เป็นผู้ให้ท่าทาง ภายหลังจากนั้น ทางวิทยาลัยฯ ได้มีการสร้างสรรค์การแสดงชุดใหม่ขึ้นทุกปี อาทิ ฟ้อนวี ฟ้อนที ลพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งได้นำเสนอในคราวเชียงใหม่ครบ 700 ปี เหล่านี้เป็นต้น อนึ่ง การแสดงเชิงสร้างสรรค์เหล่านี้ วิทยาลัยฯ ได้จัดทำขึ้น โดยการเก็บข้อมูลจากในพื้นที่ ภาพกิจกรรมฝาผนัง ภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วจึงได้นำมาสร้างสรรค์ และเผยแพร่สู่สังคมวงกว้างต่อไป”
ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรมอันหลากหลายในแต่ละภาค ที่มีความแตกต่างกันไปตามภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของแต่ละพื้นถิ่น ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างงดงามจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งได้จัดตั้งในแต่ละภาค โดยภาระหน้าที่และบทบาทของวิทยาลัยนาฏศิลป์ คือ การสืบทอดการแสดงและวัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากขาดการอนุรักษ์ การสืบทอด ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลงานวัฒนธรรมขึ้นใหม่แล้ว เยาวชนคนรุ่นหลังอาจไม่ได้เห็นและสัมผัสถึงรากเหง้าแห่งภูมิปัญญาที่เป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของแผ่นดินไทย
พบกับการแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาคที่คัดกรองมาอย่างพิถีพิถันจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ 4 แห่ง และการแสดงที่แสนงดงาม อันกลั่นกรองมาจากหัวใจของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสืบทอดวัฒนธรรม และวิถีแห่งภูมิปัญญาของชนรุ่นเก่าก่อน ที่เพียรสร้างปึกแผ่นแห่งวิถีวัฒนธรรมไว้อย่างลึกซึ้ง ซึ่ง คุ้มยิ่งกว่าคุ้มกับการชม ไม่แพ้กับคอนเสิร์ตตามสมัยนิยม และคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำจากต่างประเทศอย่างแน่นอน
ติดตามการแสดงต่าง ๆ ได้ภายในงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 — 9 เมษายน 2550 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และบริเวณรอบตัวเมืองเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ TAT Call Center 1672 หรือ 053-248604, 302500 และทางเว็บไซต์การจัดงาน www.chiangmaiart2007.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 0 2682 9880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ