กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2011 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--พพ. พพ.เผยผลวิจัยโครงการศึกษาศักยภาพการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวล (Biomass to Liquid : BTL) พบไทยมีศักยภาพที่พร้อมให้ภาคเอกชนลงทุนในเชิงพาณิชย์จากชีวมวล 3 ประเภท ได้แก่ ไม้โตเร็ว/ไม้เศรษฐกิจ เศษไม้/เปลือกไม้ และทางหรือทะลายปาล์มเปล่า เชื่อมีความเป็นไปได้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนแห่งอนาคต เพิ่มทางเลือกพลังงานในภาคขนส่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ลดผลกระทบวัตถุดิบจากพืชอาหารที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้เร่งศึกษาความเป็นได้ในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพจากแหล่งอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 และการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวล หรือ Biomass to Liquid : BTL ในระดับเชิงพาณิชย์ เนื่องจากอาจจะพัฒนาให้เป็นทางเลือกใหม่ในการ พัฒนาพลังงานทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมในอนาคต การใช้วัตถุดิบที่ไม่ใช่พืชอาหาร และจะมีผลโดยตรงต่อการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวล หรือ BTL ดังกล่าว พพ.ได้สำรวจ วิเคราะห์ชีวมวลที่มีศักยภาพในการผลิตสูงสุด 3 ชนิด ได้แก่ ไม้โตเร็ว/ไม้เศรษฐกิจ เศษไม้/เปลือกไม้ และทาง/ทะลายปาล์มเปล่า รวมทั้งได้ประเมินความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิง BTL ในเชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นจากการคัดเลือกและข้อมูลในการสำรวจพบว่า มีโรงงานที่สนใจและพร้อมลงทุนในกลุ่มที่ใช้ทะลายปาล์มเป็นวัตถุดิบประมาณ 10 แห่ง ในจังหวัดภาคใต้ เช่น จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และในกลุ่มที่ใช้เศษไม้/เปลือกไม้ เป็นวัตถุดิบ มีโรงงานที่เข้าข่ายสนใจและพร้อมลงทุนในโครงการ ประมาณ 4 แห่ง ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “จากชีวมวลทั้ง 3 ชนิดที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงเหลวหรือ BTL พบว่า เศษไม้/เปลือกไม้จะเป็นชีวมวลเหลือใช้จากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษที่มีจะมีเปลือกไม้ค่อนข้างมาก ขณะที่โรงงานผลิตไม้แปรรูปหรือเฟอร์นิเจอร์จะมีเศษไม้ ขี้เลื่อยเป็นชีวมวลซึ่งจะกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ส่วนทะลายปาล์มเปล่า จะอยู่ในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ภาคใต้ของประเทศ และการที่มีโรงงานหลายแห่งสนใจในโครงการก็เชื่อว่า โครงการน่าจะมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานจากชีวมวลที่มีศักยภาพมากในประเทศ และสามารถใช้ได้ครอบคลุมเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียมในอนาคต” นายทวารัฐกล่าว นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลหรือ BTL พพ. ทำการศึกษาในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้ความร้อนสูง เช่น กระบวนการไพโรไลซิส โดยชีวมวลที่ได้รับความร้อนสูงในสภาพไร้ออกซิเจนจะเกิดการสลายตัวเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบของเหลวและแก๊สผสมกัน และเมื่อผ่านกระบวนการสังเคราะห์ตามขั้นตอน ก็จะสามารถใช้เป็นรูปแบบเชื้อเพลิงเหลวแทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้โดยตรง ซึ่งอนาคตหากมีการศึกษาและวิจัย BTL อย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ในภาคขนส่งต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ