กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
พลังสดใสของนักเรียนชายหญิงวัยทีน จากโรงเรียนนานาชาติ เดอะ รีเจนท์ เต็มไปด้วยความเบิกบานและกะตือรือร้นในภารกิจโครงการช่วยเหลือโรงเรียนบ้านแม่ลิด ของเด็กๆชาวไทยภูเขา พวกเขาต่างแบกเป้และสัมภาระมุ่งหน้าเดินทางสู่โรงเรียนบ้านแม่ลิด ที่หมู่ ๑ ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนบนดอยของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง สานสายสัมพันธ์ของเยาวชนจากต่างถิ่นบนแผ่นดินไทยเดียวกัน
มร.ไมเคิล วอลตัน อาจารย์ใหญ่ เดอะ รีเจ้นท์ พัทยา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมประสบการณ์จริง คุณธรรม และทักษะชีวิต โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการสร้างฝายเก็บกักน้ำ นับเป็นปีที่ท้าทายเพราะว่านักเรียนทุกคนยังไม่เคยได้เดินทางไปทำกิจกรรมใน จ.แม่ฮ่องสอน มาก่อนเลย บ้านแม่ลิด เป็นป่าต้นน้ำธรรมชาติ มีลำธารที่ไหลลงไปสู่ห้วยด้านล่างที่ต่ำกว่า ชาวบ้านอยากได้ฝายเพื่อการจัดการน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
ตามเวลานัดหมายบ่ายโมง พวกเขาได้พบกับอีกกลุ่มนักเรียนเดอะรีเจ้นท์ที่เคยเดินทางไปทำกิจกรรมบริการชุมชนที่ เกาะพีพี จ.กระบี่ ทั้งหมดรวมพล 78 คน นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯเดินทางไปยัง จ.เชียงใหม่ ใช้เวลา 14 ชั่วโมง จากนั้นก็โดยสารรถประจำทาง ผ่านดอยดงพงไพร ได้พบเห็นธรรมชาติ วิถีชีวิตชาวบ้านและ การประกอบอาชีพเกษตรในท้องถิ่นต่างๆ ตามรายทาง
จนถึงจุดหมายปลายทางได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนักเรียนและครูโรงเรียนบ้านแม่ลิด ที่นี่มีครู 12 คน และนักเรียนชาวไทยภูเขา 270 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนมาก หลายคนต้องใช้เวลาเดินเท้ามาโรงเรียนถึง 2- 3 ชั่วโมง เยาวชนได้รับความเอื้อเฟื้อให้พักอาศัยที่บ้านใกล้โรงเรียนบ้านแม่ลิด บรรดาเจ้าถิ่นเด็กชาวไทยภูเขาต่างตื่นเต้นและช่วยกันจัดเตรียมข้าวของเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน แต่บางคนก็ยังมีอาการเขินอายอยู่บ้าง
ทีมเยาวชนเดอะ รีเจ้นท์ 78 คน หมุนเวียนสลับกันทำกิจกรรม ในแต่ละวันจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนชาวเขาโดยการใช้กิจกรรมนันทนาการ เช่น การร้องเพลง เล่นดนตรี มาเป็นส่วนช่วยในการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ส่วนกลุ่มที่สามและสี่ เริ่มด้วยการสร้างฝายกักเก็บน้ำและช่วยกันปลูกต้นไม้ อาสาสมัครจากเยาวชนแม่ลิด ก็มาสมทบกับนักเรียนเดอะ รีเจ้นท์ รวมพลังช่วยกันวางแผนและสร้างฝายแบบภูมิปัญญาไทยโดยใช้วัสดุท้องถิ่นและก้อนหินมาปรับระดับเป็นขั้นบันได ช่วยชะลอสายน้ำและทำทางน้ำสู่แปลงเพาะปลูกเกษตรและวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เมื่อทุกคนทำงานเสร็จ ได้รับแจกเชือก 3 เส้นที่เป็นสื่อสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่งอกงาม 3 ประสานระหว่างโรงเรียนนานาชาติเดอะ รีเจ้นท์, โรงเรียนบ้านแม่ลิด และต้นไม้ที่พวกเขาปลูก
สิริโรจนา ไทยานันท์ หรือ น้องเก้า กล่าวว่า “หนูชอบที่มือของหนูเลอะดินโคลน เพราะหนูและเพื่อนๆ ได้ใช้มือเล็กๆของเราในการสร้างฝายกักเก็บน้ำในครั้งนี้ รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำจนฝายสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและโรงเรียนที่นี่ ”
ในช่วงเย็นเยาวชนได้จัดงานเลี้ยงขอบคุณชาวไทยภูเขา มีการแสดงบนเวทีเนินดินเล็กๆ และอาหารอร่อย ทุกคนมีความสุขและปลื้มใจมาก กับการได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือโรงเรียนและชุมชนชาวไทยภูเขาในครั้งนี้ เมื่อใกล้วันกลับบ้าน นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่ลิดได้มอบกำไลข้อมือแฮนด์เมด 100 ชิ้นที่น่ารักแก่เพื่อนผู้มาเยือนให้เป็นเครื่องหมายเตือนความทรงจำที่พวกเขาได้มารู้จักและทำสิ่งดีๆเพื่อชุมชนด้วยกัน
วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนบ้านแม่ลิด เยาวชนวัยทีนได้เดินป่าขึ้นไปบนดอยในตำบลแม่เหาะ น้อง เดมอน อะแดง กล่าวว่า” ผมชอบการเดินป่ามากครับ เพราะได้สัมผัสธรรมชาติของป่าภาคเหนือที่งดงาม มองเห็นหมู่บ้านอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป ไม่คิดมาก่อนว่าจะได้เห็นโรงพยาบาลในหมู่บ้านแห่งนี้ และสถานรับเลี้ยงเด็กในหมู่บ้าน มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ทุกคนมีความสุขและสนุกสนานมากครับ “
การเดินทางขากลับ เหล่าเยาวชนต้นกล้า โดยสารรถบัสสู่จังหวัดเชียงใหม่และแวะเยี่ยมชมมูลนิธิขาเทียม ได้เข้าชมกระบวนการผลิตแขนและขาเทียม เป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนใจให้เขา ซึ่งมีร่างกายครบสมบูรณ์คำนึงถึงการช่วยเหลือ เอื้ออาทรต่อผู้พิการและด้อยโอกาสกว่าให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เดือน แวน แซนวู๊ท บอกว่า “ประทับใจ การเดินทางในวันเสาร์ที่ ศูนย์บริบาลช้าง (Elephant Nature Park) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือช้างที่ได้รับบาดเจ็บ, เจ็บป่วยและถูกทารุณกรรม ทางผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เปิดโอกาสให้พวกเราอาสาสมัครผู้มาเยือนได้มีโอกาสพาช้างไปเดินเล่นและอาบน้ำ ดูแลช้าง ช่างเป็นประสบการณ์สุดแสนวิเศษที่มนุษย์ เช่นเรากับสัตว์ขนาดใหญ่ได้ดูแลกันอย่างใกล้ชิด”ขอบฟ้ากว้างบนดอยสูง เป็นห้องเรียนที่เหล่าวัยทีนต่างสัมผัสบทเรียนอันล้ำค่าและคว้าดาวมาประดับไว้ในใจ
PR Agency : บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
Tel : 02-911-3282 Fax : 02-911-3208
Email : brainasiapr@hotmail.com