ประกาศผลผู้เข้ารอบ 5 รายสุดท้าย โครงการประกวดแบบลานเฉลิมพระเกียรติฯ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2011 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สศช. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่าย ประกาศผู้เข้ารอบ 5 รายสุดท้าย ในการประกวดโครงการ “ประกวดแบบลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” หลังจากกำหนดแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษบนถนนราชดำเนิน ปรับปรุงพื้นที่กว่า 5 ไร่ บริเวณบนถนนราชดำเนินกลางให้เป็นโครงการสวนและลานกิจกรรมอาคารนิทรรศการและศูนย์การเรียนรู้ ชี้ผลงานดีมีคุณภาพ พร้อมย้ำศักยภาพของสถาปนิกรุ่นใหม่ ก้าวไกลในระดับสากล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิรดี เกษมศุข ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้ดำเนินการโครงการประกวดแบบลานเฉลิมพระเกียรติฯ เผยว่า หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน คณะกรรมการได้ตัดสินใจคัดเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุดจำนวน 5 ผลงาน จากทั้งหมด 78 ผลงาน เพื่อทำการพัฒนาแนวความคิด และส่งผลงานรอบสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2554 นาย ยศพล บุญสม ผู้อำนวยการ บริษัท ฉมา จำกัด หนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบ 5 รายสุดท้าย และเจ้าของผลงานภายใต้ชื่อ “ทศพิธราชธรรมบรรพต” ซึ่งแปลว่า ภูเขาแห่งธรรม 10 ประการ สื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม เผยถึงความประทับใจในการเข้าร่วมโครงการว่า เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงต้องอาศัยความตั้งใจและความทุ่มเทอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีและสมพระเกียรติพระองค์ ด้าน นาย นพพล พิสุทธอานน์ และ นาย ศิริชัย จึงวิรุณโชตินันทร์ ผู้อำนวยการ บริษัท สถาปนิก ควินตริก จำกัด ผู้ออกแบบผลงานชื่อ “ลานเฉลิมพระเกียรติฯ” ซึ่งได้แนวคิดจากพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรกรรม สื่อออกมาผ่านน้ำ, ก้อนเมฆ และทุ่งนา กล่าวถึงความท้าทายในการทำงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจในหลายด้าน เป็นการยากที่จะนำเรื่องราวต่างๆมาร้อยเรียงกันได้อย่างครบถ้วน จึงต้องใช้เวลาศึกษาและใคร่ครวญอย่างมากกว่าจะได้แบบที่เหมาะสมและเสร็จสมบูรณ์ ส่วน นาย ปิตุพงษ์ เชาวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท ซุปเปอร์มาชีน สตูดิโอ จำกัด เจ้าผลงานภายใต้ชื่อ “ซอยเล็กๆ และลานเล็กๆ” ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบจากเครือข่ายสายใยของซอยต่างๆที่รวมกันเป็นประเทศไทย เผยเพิ่มเติมว่า โครงการประกวดแบบลานเฉลิมพระเกียรตินี้มีข้อจำกัดอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะแคบและวางตัวเป็นแนวยาว ประกอบกับข้อจำกัดในเรื่องความสูงของอาคารที่ห้ามสูงเกิน 16 เมตร ทำให้หลายทีมต้องออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยกดลงไปบริเวณใต้ดิน นอกจากนี้ นาย จักรดาว นาวาเจริญ ผู้แทน บริษัท เอ็นเจ็ดเอ จำกัด เจ้าของผลงานชื่อ “ผสาน ณ รังสรรค์ สัมพันธ์ ณ สถาน” ซึ่งได้แนวคิดจากการรวมตัวกันของหน่วยเล็กๆ จนเกิดเป็นรูปร่างใหญ่ที่เป็นหนึ่งเดียว กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางทีมงานได้ทำงานกันอย่างหนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ผู้เข้าประกวดทุกรายมีเวลาศึกษาหาข้อมูลและออกแบบลานดังกล่าวเพียงแค่ 2 เดือน แต่ท้ายที่สุดก็ได้แบบที่เสร็จสมบูรณ์ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ และได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบ 5 รายสุดท้ายในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี นาย ธัชพล สุนทราจารย์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท ภูมิสถาปนิกสยาม จำกัด ร่วมกับ นาย พัชระ วงศ์บุญสิน เจ้าของผลงานชื่อ “ลานแผ่นดิน” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบกดต่ำ สะท้อนถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ท่ามกลางประชาชน กล่าวว่า ตนและทีมงานรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการใหญ่ระดับประเทศเช่นนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีโครงการดีๆให้สถาปนิกไทยได้แสดงความสามารถอีกในอนาคต ท้ายที่สุด ผศ. ดร. อภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “คณะกรรมการรู้สึกประทับใจในแนวคิดการออกแบบผลงาน และศักยภาพของผู้เข้าประกวดเหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยภาพรวมผลงานส่วนใหญ่มีคุณภาพดีมาก นำเสนอได้ชัดเจน ในแง่ของผู้เข้าร่วมส่งผลงานค่อนข้างหลากหลาย มีผลงานของคนรุ่นใหม่เยอะกว่าที่คาด ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในวงการวิชาชีพ เชื่อว่ามีศักยภาพพาวงการวิชาชีพสถาปนิกไทยออกสู่สากล ในวาระที่จะมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน” ทั้งนี้ ทาง สคช.จะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดในเดือนพฤษภาคม และกำหนดให้มีการจัดพิธีมอบรางวัล พร้อมจัดนิทรรศการแสดงผลงานแก่สาธารณชนในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ศกนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ โทรศัพท์ 02 559 0505 ต่อ 306 , 573

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ