กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
การทำสิ่งดีเพื่อตนเองและผู้อื่นนั้นทำได้มากมายหลายรูปแบบ ไร้ขีดจำกัด แต่คนส่วนใหญ่มักคิดแต่ไม่ได้ลงมือทำ ในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2 “แบ่งปัน...เพื่อเปลี่ยนแปลง” วันที่ 6-8 พฤษภาคม นี้ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ (ติดสวนรถไฟจตุจักร) จะกลายเป็นตลาดนัดกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้ลงมือทำแล้วเกิดผลต่อการพัฒนาตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงสังคมโดยรวม จะได้มาผลงานการทำจิตอาสาดี ๆ มา Show-Share-Shop ให้ลงมือทำและเรียนรู้กันได้ทั้งครอบครัว
เชิญร่วมเป็นหนึ่งใน "พลเมืองอาสา พลังของการเปลี่ยนแปลงสังคม" ด้วยกิจกรรมหลากหลายที่พร้อมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา เริ่มต้นจาก สถานีพลเมือง (Citizen Station) สนุกกับการละเลงสีและความคิดลงบน “Idea Cubes” ฝากไอเดียแจ๋วๆของการเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมไว้กับเรา >> เรียนรู้นิทรรศการมีชีวิต พลเมืองอาสา: คืนคนที่ดลใจ เรียนรู้ชีวิตของบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจของการเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม >> มีส่วนร่วมลงมือทำใน ฐานกิจกรรมพลเมืองอาสา ร่วมกิจกรรมอาสาสมัครง่ายๆที่สามารถลงมือทำได้ด้วยตนเองพร้อมครอบครัว ตลอดทั้ง 3 วัน ตั้งแต่เวลา 9.00 — 17.00 น. ในรูปแบบงานอาสาสมัครที่หลากหลาย อาทิ นิทานทำมือ สร้างสื่อการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลน, ฝึกการเป็นนักข่าวพลเมือง อาสาสมัครสื่อสารเรื่องราวดีดีสู่สังคม หรือ กิจกรรมส่งเสริมความเป็น พลเมืองโลก (Global citizen) ด้วยการมีส่วนร่วมกับการรณรงค์สิทธิมนุษยชนต่างๆจากทั่วโลก เป็นต้น
เดินทางต่อไปที่ ห้องเรียนรู้สู่ความเป็นพลเมือง (Citizen Workshops) เรียนรู้อย่างลงลึกและมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการเวิร์คชอปต่างๆได้ด้วยตนเอง ผ่านการอบรม 5 กระบวนการ ดังนี้
เวิร์คชอปวิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปลี่ยนแปลงห้องเรียนอย่างไรให้เชื่อมโยงกับสังคม ผู้เรียนก็สนุกและผู้สอนก็มีความสุข ให้ความรู้และแนวทางการจัดกระบวนการเรียนการสอนการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic Education) มุ่งสู่การพัฒนาบัณฑิตซึ่งมีสำนึกความเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ( 6 พ.ค. 54 เวลา 09.00 — 12.00 น.ห้องวิปัสสนา 1 รับ 50 คน)
เวิร์คชอปสิทธิมนุษยชนศึกษา โดย องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล (Amnesty International) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมากขึ้น ฝึกวิธีคิดและเรียนรู้ทำความเข้าใจสิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมง่ายๆและสนุกสนาน ผ่านเกมส์กับกระบวนการกลุ่มย่อยหลากหลายรูปแบบ (วันที่ 6 พ.ค. 54 เวลา 13.00 — 16.00 น. ณ ห้อง วิปัสสนา 1 รับจำนวน 50 คน)
เวิร์คชอปพัฒนาผู้นำเยาวชนจิตอาสา โดย กลุ่มแผลงฤทธิ์ เยาวชนคืออนาคต ทำอย่างไรที่จะสร้างเยาวชนที่สภาวะความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จุดระเบิดแรงบันดาลใจจากภายในเพื่อสร้างเยาวชนจิตอาสาที่จะเป็นพลังสำคัญในอนาคต กระบวนการพัฒนาแรงบันดาลใจและทักษะสำหรับเยาวชน ที่จะกลายเป็นแกนนำสำคัญในโรงเรียนและชุมชนต่อไป ด้วยกิจกรรมเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและฝึกความคิดและการแก้ปัญหา ( วันที่ 7 พ.ค. 54 เวลา เวลา 13.00 — 16.00 น. ณ ห้อง วิปัสสนา 1 รับจำนวน 50 คน)
เวิร์คชอปนักข่าวพลเมือง โดย สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (TPBS) สังคมของข้อมูลและข่าวสารปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและรวดเร็ว การทำข่าวมิได้จำกัดวงแค่เฉพาะนักข่าวมืออาชีพอีกต่อไป แต่ประชาชนพลเมือง เริ่มมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารข้อมูลจากพื้นที่ในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ เรียนรู้กระบวนการในการทำข่าวและการรายงานข่าวจากประสบการณ์ของนักข่าวพลเมือง จาก สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (TPBS (วันที่ 8 พ.ค. 54 เวลา 09.00 — 12.00 น. ณ ห้อง วิปัสสนา 1 รับจำนวน 50 คน)
เวิร์คชอปการใช้เทคโนโลยีในงานพัฒนาสังคม โดย สถาบัน Change Fusion ประโยชน์ของเทคโนโลยีมิได้เพียงความบันเทิงหรือการหาประโยชน์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถนำมาใช้ในการสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสังคมด้วย เรียนรู้ตัวอย่างและประสบการณ์จากผู้ที่ทำงานพัฒนาเทคโนโลยีในการงานพัฒนาสังคม ที่สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นอย่างกว้างและสร้างสรรค์ (วันที่ ๘ พ.ค. ๕๔ เวลา 13.00 — 15.00 น. ณ ห้อง วิปัสสนา 1 รับจำนวน 50 คน)
จบท้ายด้วย สานเสวนาพลเมือง (Citizen Talks) รับฟังและแลกเปลี่ยนพูดคุย กับวงเสวนาน่าสนใจในประเด็นหลากหลายเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
"สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้จิตอาสา" ร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง จากโครงการสุขจากการให้ ครู + เยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา มูลนิธิกระจกเงา ใน วันที่ 7 พ.ค. 54 เวลา 13.00 — 15.00 น.ณ ห้องวิปัสนา 1
"วิชาสุดท้ายที่มหา’ลัย ไม่ได้สอน” ร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยน การเรียนในมหาวิทยาลัย สุดท้ายแล้วให้อะไรกับนักศึกษา อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัย ฟังการเสวนาจากวิทยากรผู้คลุกคลีและมีความสนใจเรื่องการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ อาทิ * ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนยอดนิยม เจ้าของหนังสือ “วิชาสุดท้ายที่มหา’ลัยไม่ได้สอน, คุณนิรมล เมธีสุวกุล พีธีกร คนทำสื่อ ที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ,วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักแสดง/พิธีกร/นักเขียนรุ่นใหม่ที่สนใจมิติทางสังคม เป็นต้น (*วิทยากรอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน) ในวันที่ 7 พ.ค. 54 เวลา 10.00 — 12.00 น. ณ ห้องวิปัสนา 1
“จะเป็นพลเมืองกันไปทำไม” ร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุย วิพากษ์ บทบาทความเป็นพลเมืองกับสังคม พลเมืองแบบไหนที่สังคมต้องการ และเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรท่ามกลางพลเมืองที่แตกต่างและหลากหลาย กับผู้ร่วมเสวนา อาทิ * นภพัฒน์จักร อัตตนนท์ นักข่าวรุ่นใหม่จากเนชั่นทีวี ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 รัฐภูมิ อยู่พร้อม ผู้ก่อตั้งอาสาสมัคร 1500 ไมล์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยวิกฤติการน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี2553 เจตริน วรรธนะสิน นักร้อง นักแสดง ที่สนใจการเป็นอาสาสมัครในการระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หลายเหตุการณ์ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ปลายปี 2553 แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น เป็นต้น (*วิทยากรอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน) ในวันที่ 8 พ.ค. 54 เวลา 13.00 — 15.00 น. ณ โถงกลางชั้น 1 ดูเพิ่มเติมที่ www.thailandyouthfestival.com