กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าดำเนินการปราบปรามการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมและผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 9 — 19 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการแจ้งเตือนและจุบกุมซอฟต์แวร์เถื่อนได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์รายย่อยไปจนถึงผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ที่ผลิตซอฟต์แวร์เถื่อนจำนวนมหาศาลเพื่อจัดจำหน่ายให้กับร้านค้าไอทีทั่วประเทศ
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า “เมื่อปีที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินคดีจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งสิ้น 210 บริษัท ซึ่งใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์เถื่อนติดตั้งในคอมพิวเตอร์ โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 472 ล้านบาท ทั้งนี้ ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนเครื่องพีซีที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงจากร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 75”
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีเข้าจับกุมร้านค้าทั้งสิ้น 12 ร้านซึ่งจำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย โดยรวมไปถึงร้านจำหน่ายซีดีที่มีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าไอทีทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากการปราบปรามดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตรวจพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์
ระหว่างการปราบปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์เป็นจำนวนมหาศาลประกอบไปด้วย Windows Ultimate, Windows XP Professional และ Office 2007 Enterprise ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18 ล้านบาท โดยพบว่าร้านค้าที่จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวได้หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าซอฟต์แวร์ที่ตนซื้อไปนั้นเป็นของจริง ทั้งนี้ เจ้าของร้านดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย
สมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า “การปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ นับเป็นแนวทางในการปกป้องนวัตกรรมทางด้านไอทีแนวทางหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจะช่วยให้นักพัฒนามีกำลังใจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น และทำให้การดำเนินชีวิตผู้ใช้งานชาวไทยสะดวกมากยิ่งขึ้น”
“ถึงแม้ว่าการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จะฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน แต่เราเชื่อมั่นว่าความเชื่อผิดๆ ดังกล่าวจะหมดไป เมื่อผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ประเทศไทยมีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่จุดหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมแนวทางดังกล่าว เราสนับสนุนให้ผู้คนมีความเข้าใจถึงความสำคัญและซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศปลอดการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง” นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล โฆษกประจำกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าว กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นองค์กรระดับแนวหน้าที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของอุตสาหกรรมซอต์แวร์ โดยได้ดำเนินงานในประเทศต่างๆ กว่า 80 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ รวมทั้งนวัตกรรมต่างๆ ทั้งนี้ พันธมิตรของบีเอสเอได้ลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่าพันล้านดอลล่าร์ต่อปีเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การสร้างงานและการสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
“หากเราสามารถควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ เราจะมีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณภาพในเวลาที่รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ในแง่ของการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคมโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราได้ใช้พลังงานและทรัพยากรไปกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ” สมพร มณีรัตนะกูล กล่าวเสริม
การผลิตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมหาศาลเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นการประกอบอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งรายงานจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมชี้ชัดว่า เป็นแหล่งเงินให้กับเครือข่ายอาชญากรทั่วโลก โดยที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อจากการสนับสนุนอาชญากรเหล่านั้น ด้วยการซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ นอกเหนือไปจากการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ภาครัฐยังจำเป็นที่จะต้องประกาศถึงผลจากการกระทำดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเช่นเดียวกัน
การดำเนินการปราบปรามเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาล กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังร่วมมือกันเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของธุรกิจและเศรฐกิจของประเทศ อีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์
ด้านนายไบรอัน วิลเลียมส์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกสืบสวนต่อต้านการละเมิดลิขสิทธ์และการปลอมแปลง กลุ่มนิติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย นับเป็นปัญหาหลักสำหรับไมโครซอฟท์ ซึ่งไม่เพียงแต่เกี่ยวเนื่องกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปกป้องผู้บริโภคด้วย โดยเราต้องการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของการซื้อและการใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ และหลีกเลี่ยงการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อคอมพิวเตอร์แล้ว ยังจะส่งผลสัยต่ออุตสาหกรรมไอทีของประเทศโดยรวมอีกด้วย”
ในขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ก็ได้พยายามที่จะปกป้องผู้บริโภคในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการตรวจสอบในกรณีที่ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
คำแนะนำจากไมโครซอฟท์ในการปกป้องตนเอง คือการเลือกซื้อซอฟต์แวร์จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น และเรียนรู้การแยกแยะซอฟต์แวร์ปลอมออกจากซอฟต์แวร์แท้ โดยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาไทยได้ที่ www.microsoft.com/thailand/genuine/howtotell.aspx ทั้งยังควรอัพเดทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรม Microsoft Security Essentials ได้ฟรีที่
www.microsoft.com/security_essentials (มีภาษาไทย)
ผู้บริโภคที่สงสัยว่าถูกหลอกลวงให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งเรื่องดังกล่าวมายัง Microsoft Customer Contact Center ที่ 02 263 6888 หรือหากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่ www.microsoft.com/thailand/genuine
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณศุภาดา ชัยวงษ์
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 209
โทรสาร: 0-2627-3510
Email: sjaidee@th.hillandknowlton.com