กรมบัญชีกลางประเมินเข้มกองทุนหมุนเวียน

ข่าวทั่วไป Thursday May 17, 2007 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
บัญชีกลางเปิดเผยผลประเมินการดำเนินงานกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ในการควบคุมดูแลของส่วนราชการต่าง ๆ ประจำปี 2549 ว่า การประเมินในเบื้องต้น ทุนหมุนเวียนมีผลคะแนนเฉลี่ยโดยรวมที่ระดับ 3.6544 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดี ทุนหมุนเวียนที่มีผลคะแนนสูงสุด ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์ และเงินตราไทย รองลงมาคือ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา ตามลำดับ
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานเงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนราชการต่าง ๆ กว่า 90 ทุน และมีทรัพย์สินมากกว่า 800,000 ล้านบาท กรมบัญชีกลางได้พยายามผลักดันเพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ สามารถบริหารงานของทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการปรับระบบการพิจารณาอนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปีของทุนหมุนเวียนให้เป็นแบบมุ่งเน้นผลงาน ซึ่งจะเน้นผลผลิตหรือ Output มากกว่าการพิจารณาในรายละเอียดเป็นรายการแบบเดิม พร้อมทั้งได้นำระบบการติดตามประเมินผลการดำเนินงานมาใช้ โดยว่าจ้างที่ปรึกษาจากภายนอก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลมากำหนดระบบประเมินผล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียน โดยใช้หลัก Balanced Scorecard และประเมินใน 4 มิติ คือ มิติด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติการ ด้านการสนองประโยชน์ ผู้มีส่วนได้เสีย และด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน และเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนเพื่อพิจารณาอีกครั้ง แล้วจึงจะแจ้งผลให้ส่วนราชการที่กำกับดูแลทุนหมุนเวียนทราบ เพื่อพิจารณาปรับปรุงผลให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจะได้นำเสนอผู้บริหารของกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายมนัสกล่าวต่อว่า สำหรับคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการผู้แทนส่วนราชการจากกรมบัญชีกลาง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีกจำนวน 10 คน ร่วมเป็นกรรมการ มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดและการติดตามประเมินผล โดยกรมบัญชีกลางได้นำระบบประเมินผลมาใช้ตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบันปี 2550 จากการเริ่มประเมินผลจำนวน 10 ทุน และเพิ่มเป็น 34 ทุน 49 ทุน และ 66 ทุน ตามลำดับ
โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ส่วนราชการที่กำกับดูแลทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ซึ่งมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและการติดตามผลการดำเนินงานของตนอย่างมาก เนื่องจากมีการกำหนด KPI ประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญและกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามากำกับการประเมิน และให้ข้อเสนอแนะการทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ทุนหมุนเวียน ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทุนหมุนเวียนและก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายเงินของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้นต่อไป สำหรับทุนหมุนเวียนที่ผลการประเมินยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นทุนหมุนเวียนที่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติงาน เช่น ความไม่ชัดเจนในนโยบายการดำเนินงาน มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงาน เกิดภัยธรรมชาติหรืออยู่ระหว่างการพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้ยังไม่สามารถผลักดันผลงานได้อย่างเต็มที่ เช่น เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู เงินทุนหมุนเวียนยางพารา และกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งกรณีนี้กรมบัญชีกลางจะได้ผลักดันการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ