การเสริมภูมิคุ้มกันเจ้าตัวเล็กให้ปลอดโรค เริ่มที่ครอบครัว

ข่าวทั่วไป Friday April 20, 2007 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--คอมมูนิ เคชั่นแอนด์ แอนด์ มอร์
คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนปฏิเสธว่า ปัญหาอาการเจ็บป่วยของเจ้าตัวเล็กนั้น เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความกังวลและหนักใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆเพราะเด็กจะไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยของเขาได้ว่า เจ็บปวดตรงไหน หรือเป็นมากน้อยแค่ไหน
นพ.พรชัย วงศ์อุไรเลิศกุล กุมารแพทย์ ให้คำแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ดูแลสุขภาพเจ้าตัวเล็กให้ปลอดจากโรคภัยคุกคามจะดีกว่าปล่อยให้เป็นแล้วค่อยมารักษา ซึ่งการดูแลสุขภาพของเด็กเล็กนั้นจะต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานที่เพียงพอ โดยพ่อแม่จะต้องดูแลตั้งแต่เรื่องสถานที่ต่างๆที่เจ้าตัวเล็กจะไปสัมผัสจนถึงเรื่องอาหารการกิน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ดูแลสุขภาพและสุขอนามัยเบื้องต้นให้กับเจ้าตัวเล็ก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มดูแลตั้งแต่ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโภชนาการที่ดี สอนให้เด็กรู้จักล้างมือบ่อยๆ ให้เด็กกินนมแม่ หลีกเลี่ยงมลภาวะเป็นพิษต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันให้เจ้าตัวเล็ก โดยส่งเสริมการให้นมแม่ ใส่ใจเรื่องโภชนาการ ให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในตัว เมื่อสุขภาพเด็กดี โอกาสที่ลูกจะป่วยก็ลดลง
2. ให้เด็กได้ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่ไปคาดหวังให้เจ้าตัวเล็กไปทำกิจกรรม ที่เนอร์สเซอร์รี่บางแห่งอาจมีพื้นที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้เล่นออกกำลังกาย บางแห่งอาจตั้งในสถานที่ที่อยู่ไกล ก็อาจทำให้เด็กไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะต้องเดินทางไกล สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้
3. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หรืออยู่ในที่แออัด เช่น ในโรงเรียนอนุบาล เนอร์สเซอร์รี่สถานเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day Care) และห้างสรรพสินค้าเป็นต้น เพราะที่เหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และโอกาสที่เด็กจะติดเชื้อก็สูงขึ้นคำนึงถึงความจำเป็นในการส่งลูกไปสถานที่ดังกล่าว หากสามารถเลี้ยงที่บ้านได้ก็จะดีที่สุด แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ เช่น พ่อแม่ต้องไปทำงาน ญาติที่ดูแลอยู่ห่างไกล หรือว่าเป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ ก็ควรเลือกสถานที่ที่ดีและเหมาะสม
4. การป้องกันโดยการเสริมภูมิคุ้มกันเฉพาะ หรือการให้วัคซีน คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาว่ามีโรคอะไรบ้างที่ลูกน้อยจะมีโอกาสติดต่อได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย เพราะสามารถติดต่อได้ง่ายเพียงแค่ไอ หรือจาม ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มโรคที่พบบ่อยแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มโรคที่พบไม่บ่อยแต่รุนแรงและมีอันตรายอันถึงชีวิต ที่สำคัญได้แก่ โรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (ไอพีดี) ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันโรคไอพีดีนี้ มีวัคซีนป้องกันแล้ว
“โรคที่ติดต่อโดยทางเดินหายใจที่รุนแรง เราพบว่าเชื้อแบคทีเรียนิวโมคคอคัส เป็นเชื้อโรคที่พบบ่อยถึง 1 ใน 3 ซึ่งการติดเชื้อนิวโมคอคคัสนี้ สามารถลุกลามไปสู่หู และก่อโรคหูน้ำหนวกได้ หากเชื้อนี้ลงไปในปอด ก็อาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ (นิวโมเนีย)ได้ หากเด็กไม่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวก็อาจทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายลุกลามเข้าไปสู่กระแสเลือด และก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และถ้าเชื้อลุกลามเข้าไปในส่วนที่สำคัญ เช่น สมอง ก็อาจเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ซึ่งการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมอง เราเรียกว่า โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุแรง หรือโรคไอพีดี ซึ่งอันตรายมาก เพราะเป็นแล้วอาจอันตรายถึงชีวิต หรือพิการทางสติปัญญาได้ ” นพ.พรชัยกล่าว
นพ.พรชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงหรือโรคไอพีดีนั้นทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวะ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาที่ว่าพบเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยามากขึ้น ทำให้รักษาได้ยากและใช้เวลานานขึ้น ดังนั้น หากพบว่าลูกน้อยงอแง ซึม มีไข้สูง และไม่ยอมดื่มนม ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการเบื้องต้นของโรคไอพีดีคล้ายโรคติดเชื้อทั่วไป หากได้รับการรักษาที่ช้า อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นพิการ และเสียชีวิตได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันการเกิดโรคด้วยวิธีต่างๆดังที่กล่าวมา ในกรณีเด็กมีอายุน้อย และมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ พ่อแม่ควรจะศึกษาเพื่อพิจารณาและตัดสินใจว่าควรจะป้องกันโดยการให้วัคซีนหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันหลายๆโรค รวมทั้งโรคไอพีดี มีวัคซีนช่วยป้องกันโรคเหล่านี้แล้ว และวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็กได้ เพื่อให้เด็กเล็กได้ปลอดภัยจากโรคมากขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2619 2266

แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ