กิจกรรมเด่นใน “ค่ายเยาวชนสมองแก้ว เกษตรศาสตร์-ซีเกท รุ่นที่ 24”

ข่าวเทคโนโลยี Friday May 6, 2011 17:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2554 ในกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์ น้อง ๆ จะได้ทดสอบการปลอมปนของเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องจากโครงสร้างแป้งของข้าวแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการตรวจทางเคมี ซึ่งมี 2 วิธี โดยเยาวชนจะหักเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละเม็ด ออกเป็น 2 ส่วนและทำการทดสอบ 2 วิธี ดังต่อไปนี้ วิธีแรกคือการนำเม็ดข้าวมาหยดไอโอดีนลงไป ข้าวที่นิ่มซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิแท้จะเป็นสีน้ำตาล ส่วนข้าวที่แข็งซึ่งอาจเป็นข้าวพันธุ์ชัยนาทและข้าวอื่น ๆ ที่ถูกนำมาปลอมปน จะมีสีน้ำเงินเข้ม วิธีที่สองคือการนำเมล็ดข้าวอีกครึ่งที่เหลือไปย่อยด้วยด่าง ข้าวที่ถูกย่อยด้วยด่างได้ง่ายจะหุงสุกง่าย ซึ่งก็จะเป็นข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวที่ย่อยด้วยด่างได้ยากก็จะเป็นข้าวประเภทอื่น ๆ ต่อจากนั้น จะมีการคำนวณเปอร์เซ็นต์ว่าจากเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 24 ตัวอย่าง น่าจะมีข้าวหอมมะลิคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ กิจกรรมนี้ยังถูกนำมาใช้ปฏิบัติจริงในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาหลักของการส่งออกข้าวของไทย ต่อจากนั้น ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. น้อง ๆ ทั้ง 230 คนจะได้ดูแปลงปลูกข้าวและมีโอกาสดำนา กิจกรรมนี้จะทำให้น้อง ๆ ได้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังทำให้พวกเขารู้คุณค่าและประโยชน์ของข้าวรวมทั้งให้สมาชิกในแต่ละทีมทดลองทอดข้าวเม่า ซึ่งเป็นอาหารที่นำข้าวมาเป็นส่วนผสมหลักนั่นเอง กิจกรรมโครงงานดิจิตอล ซึ่งพัฒนาทักษะในการประดิษฐ์หุ่นยนต์และสร้างโปรแกรมคำสั่งของหุ่นยนต์ กิจกรรมเกมและนันทนาการ กิจกรรมยามค่ำคืนที่เน้นความคิด การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม และการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยใช้ความสนุกสนานที่ผนวกกับสาระการเรียนรู้ การแก้ปัญหาเป็นสำคัญ มีทั้งกิจกรรมกลางแจ้ง แคมป์ไฟ กิจกรรมกลุ่มในห้อง การแสดงที่ออกแบบกิจกรรมให้มีความแปลกใหม่ และตรงใจเยาวชน วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2554 กิจกรรมช่างคิดวิศวกร กิจกรรมนี้จัดขึ้นในค่ายเยาวชนสมองแก้ว เกษตรศาสตร์-ซีเกท เป็นประจำทุกปี แต่หัวข้อจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพื่อท้าทายความสามารถของเยาวชน ในปีนี้ น้อง ๆ จะได้พบกับกิจกรรมในตอน “วิศวกรสู้แผ่นดินไหว” โดยใช้หลักการทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และมีโจทย์ในการสร้างบ้านดังต่อไปนี้ 1. เพื่อให้สมจริง วิทยากรจะให้น้อง ๆ แบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มละประมาณ 10 คน เพื่อสร้างบ้านย่อส่วน โดยอุปกรณ์สำหรับใช้สร้างบ้านจะมีขนาดเล็กลงตามขนาดของบ้านย่อส่วน เช่น ให้น้อง ๆ นำหลอดกาแฟมาทำเป็นเสาบ้าน ส่วนผนังบ้าน ให้น้อง ๆ ใช้แผ่นข้าวเหนียว (แผ่นแห้ง) ซึ่งใช้รับประทานกับแหนมเนืองมาใช้ และใช้ด้ายเย็บผ้ามาทำเป็นเหล็กเส้น 2. เนื่องจากงานทางด้านวิศวกรรมเป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ตลอดจนแรงงานและเวลาที่จำกัด จึงนำเงื่อนไขนี้มาใช้เป็นโจทย์ในการสร้างบ้านย่อส่วน 3. ให้น้อง ๆ สร้างบ้าน 2 ชั้น กว้าง 20 ซม. X ยาว 20 ซม. X สูง 20 ซม. และไม่มีขีดจำกัดในด้านรูปทรง 4. จะมีการฉายวิดีโอให้ความรู้แก่น้อง ๆ ในการสร้างบ้านย่อส่วนเพื่อสู้กับแผ่นดินไหว เช่น - เทคนิคการผูกเหล็กรอบเสาสะพานหรือเสาอาคาร ก่อนเทคอนกรีต - การใช้เทคนิคฐานลอย โดยสิ่งก่อสร้างหรืออาคารจะวางอยู่บนสปริงค์ซึ่งเคลื่อนตัวไปมาตามแรงของแผ่นดินไหวได้ - การทำพื้นฐานของบ้านหรืออาคารโดยใช้หลักการเหมือนรองเท้าสเก็ต ซึ่งตรงขาจะทำเป็นถ้วยไว้ให้บ้านเคลื่อนที่อยู่ในถ้วย - และเทคนิคการสร้างอาคารโดยนำลูกตุ้มไปถ่วงไว้ในตึก เหมือนกับที่ใช้ในอาคารไทเป 101 ประเทศไต้หวัน เป็นต้น 5. จากนั้น เมื่อบ้านย่อส่วนซึ่งใช้ป้องกันแผ่นดินไหวเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีการแข่งขันกันโดยมีรางวัลสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมาก และอีกรางวัลคือรางวัลสำหรับบ้านที่มีความทนทาน ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ