กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กบข.
หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 มีนาคม 2540 ซึ่ง "กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)" ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการนั้น เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักคุ้นเคยกับชื่อเสียงของ กบข. ต่างจากปัจจุบันที่ไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก กบข.ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็น "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ให้กับข้าราชการไทยในปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ดูแลเม็ดเงินให้สมาชิกประมาณ 1.2 ล้านคน ดูแลเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.2 แสนล้านบาท และถือเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุนไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากเงินลงทุนเริ่มแรก 44,434.54 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีก่อน ได้เติบใหญ่ขึ้นตามลำดับสู่ระดับ 320,739.05 ล้านบาท ในปัจจุบัน เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกันที่ผลักดันให้เม็ดเงินลงทุนของ กบข.เติบโตต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คือ
1. ส่วนของเงินสะสมที่สมาชิกนำส่งเข้ากองทุนเฉลี่ยปีละ 17,000 ล้านบาท
2. ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ กบข.บริหารได้ ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2540 -2549) ที่ 8.14% ในขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 2% กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทน ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว พัฒนาการในเรื่องการลงทุนของ กบข. เองก็มีมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมานี้ โดย
"วิสิฐ ตันติสุนทร" เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ย้อนอดีตให้ฟังว่า แนวคิดของการเป็นกองทุนบำนาญเพื่อการเกษียณอายุเราจะต้องลงทุนในอะไรที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ แต่ในช่วงแรกที่ กบข.จัดตั้งขึ้นนั้นเป็นช่วงที่ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร และตลาดเงินทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 15% ต่อปี ตอนนั้นเราแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ไม่ต้องไปห่วงเรื่องหุ้น การลงทุนของ กบข.ในช่วงแรกจึงได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง เพราะส่วนใหญ่แล้วจะได้มาจากการลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวคิดของการเป็นกองทุนบำนาญเพื่อการเกษียณอายุมันไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง เพราะการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อให้ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้
"ดังนั้น กบข.เองจึงเริ่มมีการกระจายการลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้น หลังจากที่เราเริ่มกองทุนมาได้ประมาณ 2 ปี คือ ทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 4-5% ช่วงที่ผมเข้ามาก็มีสินทรัพย์เป็นหุ้นอยู่ประมาณ 8-9% ณ ปัจจุบันเราลงทุนในหุ้นถึงประมาณ 20% และจะขึ้นไปถึง 26-27%ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากเป็นกองทุนบำนาญในสหรัฐหรือในยุโรปนั้นมีการลงทุนในหุ้นมากกว่า 50% อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูสภาพแวดล้อมของเราเองด้วย ซึ่งก้าวมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องบอกว่าพอใจในระดับหนึ่งแล้ว"
นอกจากนี้ กบข. ยังได้เริ่มกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเห็นว่า กบข.เองมีการลงทุนในอาคารสำนักงานตลอดจนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างหนึ่งเพราะว่าค่าเช่าสำนักงานก็สามารถปรับเพิ่มขึ้นไปตามภาวะเงินเฟ้อได้ นั่นคือ Asset Class อีกตัวหนึ่งที่เราเริ่มกระจายการลงทุนออกมาจากตราสารหนี้และตราสารทุน ขณะเดียวกัน เราก็พยายามเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เรายังมีการลงทุนที่เราเรียกว่า การลงทุนทางเลือกหรือเป็น Alternative Investment ซึ่งตรงนี้เป็นการลงทุนในหุ้นนอกตลาดด้วย ไม่เพียงเท่านี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กบข.เองได้มีการขยายการลงทุนเข้าไปในการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยง แล้วเป็นการสนับสนุนเป้าหมายในเรื่องของการที่จะหาผลตอบแทนในระยะยาวเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ นั่นคือ การลงทุนหุ้นในต่างประเทศ
"ในวิวัฒนาการต่อไปการลงทุนก็คงมีการขยายการลงทุนในหลายๆ รูปแบบในเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ใจจริงอยากจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ 20-25% แต่ปัจจุบันได้ 15% ก็ถือว่าโอเคแล้ว ผลตอบแทนย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 8.14% ถ้าเทียบกับเงินเฟ้อที่อยู่ประมาณ 2% กว่าๆ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจแม้บางปีเราอาจจะมีผลตอบแทนที่ผันผวนตามตลาดหุ้นบ้าง แต่เนื่องจากหลักการที่เรากระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งนั้นถือเป็นความสำเร็จในการแจกแจงการลงทุนออกไป ทำให้เรามีผลตอบแทนค่อนข้างจะดี"
นับจากนี้ไป วิสิฐบอกว่าจะนำเอา "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาปรับใช้กับการลงทุนของ กบข.ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วการลงทุนในลักษณะของ Pension Fund จริงๆ แล้วเป็นการลงทุนที่อยู่ภายใต้แนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว คือ "พอประมาณ" "มีเหตุผล" และ "มีภูมิคุ้มกัน" พอประมาณคือ เราไม่โลภในการทำกำไร เนื่องจาก กบข.มีการลงทุนแบบ re-balancing คือ เมื่อราคาหุ้นขึ้นมาถึงระดับหนึ่งจนทำให้สัดส่วนของหุ้นเกิน Asset allocation ที่เรากำหนดไว้ ก็ต้องขายออก หรือราคาหุ้นปรับตัวลงจนทำให้สัดส่วนของหุ้นต่ำกว่า Asset Allocation ที่กำหนดไว้ เราก็จะสะสมหุ้นเพิ่ม เสมือนหนึ่งเป็นวินัยในการลงทุนเป็นกรอบในการลงทุนอยู่
"ซึ่งกรอบนี้ก็นำมาสู่คำว่ามีภูมิคุ้มกัน คือ เป็นนโยบายด้านความเสี่ยงของเรา ว่าเราจะไม่ลงทุนในสิ่งที่มันเสี่ยงเกินไป แล้วสิ่งที่เราทำ คือ เราตัดความโลภออกจากการลงทุน แต่เราใช้ความมีเหตุผลในการลงทุน เราต้องตอบคำถามตัวเองได้ว่าทำไมเราถึงซื้อหุ้น ทำไมเราถึงขายหุ้น ไม่ใช่ว่าเราจะไปซื้อขายหุ้นตามอารมณ์ของตลาดแต่อย่างไร แต่เรามีการวิเคราะห์อะไรต่างๆ ว่า ถ้าราคาหุ้นมันสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานนั่นคือ สิ่งที่เราจะขายทำกำไร หุ้นลงเราซื้อ แต่เรายังคงความเป็นนักลงทุนระยะยาว และเป็นนักลงทุนสถาบันที่ดีในตลาด โดยยึดถือประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก เรายึดถือผลตอบแทนที่เราควรจะได้กับสมาชิกเป็นหลัก เรายึดถือภูมคุ้มกันของเราที่เราคิดว่าเรามีกรอบความเสี่ยงที่กำหนดไว้เป็นหลักในการลงทุน"
ไม่เพียงเท่านี้ วิสิฐ ยังบอกว่า กบข.ต้องการที่จะ Bench Mark ตัวเองกับกองทุนบำนาญระดับโลก เราต้องการ bench mark ตัวเองกับสิ่งที่เขาปฏิบัติในโลกนี้ อะไรที่กองทุนบำนาญระดับโลกทำแล้วเรายังไม่ได้ทำ และสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับสมาชิก สิ่งนั้นเราจะทำ ซึ่งในปัจจุบัน กบข.ก็เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นนักลงทุนสถาบันชั้นนำในระดับสากลและระดับเอเชียอยู่แล้ว และนี่คือสิ่งที่จะก้าวเดินต่อไป