ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “ธ. เมกะ สากลพาณิชย์” ที่ “A+/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารเองในฐานะเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารแม่ในประเทศไต้หวันในการขยายกิจการสู่ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค อันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารมีพื้นฐานมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้กู้ยืมแก่นักลงทุนชาวไต้หวันเนื่องจากเป็นธนาคารไต้หวันเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย รวมถึงการมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง และการมีระบบบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางส่วนจากการมีเครือข่ายธุรกิจและสาขาของธนาคารในประเทศไทยที่จำกัดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มของการลงทุนจากประเทศไต้หวันในประเทศไทยที่ลดลง ความกังวลเกี่ยวกับการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ และผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในระยะปานกลาง แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะมีผลประกอบการทางการเงินในระยะปานกลางตามที่คาดหมายไว้โดยการใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งทางเครือข่ายธุรกิจของธนาคารแม่ในการขยายธุรกิจของธนาคารในประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตยังขึ้นอยู่กับความคาดหมายว่าธนาคารจะยังรักษาบทบาทการเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารแม่ในต่างประเทศเอาไว้ได้ซึ่งจะช่วยเอื้อประโยชน์แก่ธนาคารในด้านของการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจและเสริมความยืดหยุ่นและสภาพคล่องทางการเงิน การได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากธนาคารแม่และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ธนาคารในอนาคตจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินทั้งภายในประเทศและในระดับสากล ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์จากกระทรวงการคลังของไทยในเดือนสิงหาคม 2548 มีฐานะเป็นธนาคารที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย Mega International Commercial Bank แห่งประเทศไต้หวัน (Mega ICBC, Taiwan) โดยก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเคยมีฐานะเป็นสาขาธนาคารต่างประเทศเต็มรูปแบบในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2490 ธนาคารได้รวมระบบการดำเนินงาน ตลอดจนรูปแบบและกลยุทธ์ธุรกิจเข้ากับธนาคารแม่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกับของธนาคารแม่ด้วย ทั้งนี้ ฐานลูกค้าของธนาคารส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการมีสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งระหว่างธนาคารแม่กับบริษัทไต้หวันที่เข้ามาลงทุนหรือที่มีบริษัทลูกดำเนินการอยู่ในประเทศไทย วงเงินเสริมสภาพคล่องที่ได้รับจากธนาคารแม่ช่วยให้ธนาคารมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ ณ เดือนธันวาคม 2553 ธนาคารแม่ในไต้หวันได้รับอันดับเครดิตจาก Moody’s Investors Service (Moody’s) ที่ระดับ “A1” และจาก Standard and Poor’s (S&P) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความเป็นผู้นำของธนาคารแม่ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการให้บริการทางการเงินสำหรับการนำเข้าและส่งออก (Trade Finance) รวมทั้งการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี สภาพคล่องที่สูง และการสนับสนุนจากธนาคารกลางของประเทศไต้หวัน ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์มีมูลค่าทางธุรกิจในประเทศไทยที่จำกัดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย โดยมีเครือข่ายธุรกิจที่ยังมีขนาดเล็กและมีบริการด้านธนาคารพาณิชย์ที่จำกัด ในฐานะเป็นธนาคารลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ธนาคารจึงมีข้อจำกัดทางกฎหมายซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาได้ไม่เกิน 4 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2553 สินทรัพย์รวมของธนาคารมีจำนวน 16,377 ล้านบาท ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงประมาณ 0.14% ธนาคารให้บริการเฉพาะแก่กลุ่มลูกค้าชาวไต้หวันหรือที่เกี่ยวข้องซึ่งดำเนินกิจการในประเทศไทยโดยมียอดสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในปี 2553 ลดลงจากปี 2552 เล็กน้อยเนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ต่ำลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 172 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งต่ำกว่ากำไรสุทธิจำนวน 178 ล้านบาทในปี 2552 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับ 1.12% และ 3.46% ตามลำดับในปี 2553 ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1.22% และ 3.72% ในปี 2552 และจาก 2.14% และ 6.34% ในปี 2551 ในด้านของเงินทุนนั้น ธนาคารสามารถเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินทุนในช่วงปี 2550-2553 โดย ณ เดือนธันวาคม 2553 เงินทุนทั้งหมดของธนาคารประกอบด้วยเงินฝาก 35% ตั๋วแลกเงินระยะสั้น 14% เงินกู้ยืมระหว่างธนาคารและตลาดเงิน 20% และส่วนของผู้ถือหุ้น 31% ฐานเงินฝากของธนาคารยังกระจายตัวไม่ดีนัก โดยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ฝากเงินที่เป็นบริษัทไต้หวันรายใหญ่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้รับการสนับสนุนด้านการเงินที่แข็งแกร่งจากธนาคารแม่ซึ่งช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่ธนาคาร คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารดีขึ้นในปี 2553 หลังจากที่ถดถอยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อันเป็นผลจากการที่ลูกค้าของธนาคารมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงตามการหดตัวของยอดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท ณ เดือนธันวาคม 2553 ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 2.34% ลดลงจาก 3.17% ณ เดือนธันวาคม 2552 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสัดส่วนเฉลี่ยที่ระดับ 6% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวังในระยะใกล้ถึงปานกลางเนื่องจากความไม่แน่นอนของระดับเครดิตที่ถดถอยลงของลูกค้ารายใหญ่ในหมวดอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 20 รายซึ่งมียอดคงค้างสินเชื่อคิดเป็น 44% ของสินเชื่อรวมของธนาคารด้วย อย่างไรก็ตาม การมีฐานะเงินกองทุนที่มีขนาดใหญ่คาดว่าจะเพียงพอรองรับความสูญเสียที่คาดไม่ถึงอันอาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงในอนาคต ณ เดือนธันวาคม 2553 ธนาคารมีสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ระดับ 31.85% ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยเมื่อธนาคารมีการขยายธุรกิจตามแผน ทริสเรทติ้งกล่าว ธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (Mega ICBC) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ