กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. เผยแผนกลยุทธ์ปี 49 เร่งผลักดันบรรษัทภิบาลที่ดีในตลาดทุนตามผลรายงาน CG ROSC เพื่อเพิ่มคุณภาพของสินค้า เสริมโครงสร้างตลาดทุนให้มีความสมบูรณ์ สามารถรองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า “ ปี 2548 ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยสอบผ่านมาตรฐานสากลเรื่องบรรษัทภิบาล ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรระหว่างประเทศ และได้มีการสื่อสารพัฒนาการด้านบรรษัทภิบาลที่ดีของตลาดทุนไทยไปสู่สายตาของต่างประเทศ
ผลงานเรื่องนี้เกิดจากความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะต้องร่วมมือกันต่อไปทำให้บรรษัทภิบาล เกิดขึ้นในทุกระดับ ก.ล.ต. ได้กำหนดแผนงานในเรื่องนี้ โดยจะส่งเสริมและผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ในปี 49 จะมีการริเริ่มโครงการประเมิน
คุณภาพการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ช่วยให้การจัดประชุม ทั้งในเรื่องขั้นตอนและข้อมูล ก่อนและหลังการประชุมเป็นไปอย่างครบกระบวนการ ในขณะที่กองทุนรวมจะมีการเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้นให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนทราบ แรงผลักดันจากทั้ง 2 ฝ่ายนี้ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการพิทักษ์สิทธิของผู้ถือหุ้น
ในปีหน้านี้ เรียกได้ว่า ตลาดทุนไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ จากโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ใหม่และการเปิดดำเนินการของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะเอื้อต่อการออกสินค้าทางการเงินประเภทใหม่ ๆ และบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผู้ลงทุนก็ต้องทำความรู้จักกับสินค้าใหม่ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องรู้จักพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ลงทุนด้วย ”
นายธีระชัยกล่าวต่อไปว่า “ ในอนาคตการเปิดเสรีการค้าและการแข่งขันด้านเงินทุนจะเป็นปัจจัยหลักที่แต่ละประเทศต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือและภาพพจน์ที่ดีในสายตาต่างประเทศ ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้เพิ่มบทบาทในเวทีสากล โดยได้ร่วมกับองค์กร ก.ล.ต. โลก ผลักดันให้สมาชิกนำมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดทุนของ ก.ล.ต. โลกมาใช้ และได้ให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ผลักดันให้มีการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศ และในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีความพร้อม ก็จะเข้าประเมินในโครงการ Financial Sector Assessment Program ของ IMF ต่อไป ”
“การพัฒนาตลาดทุนเป็นหน้าที่ของทุกองค์กรในตลาดทุน หากมีการวางแผนร่วมกัน สื่อสารชัดเจน เข้าใจตรงกัน ก็จะทำให้งานต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ไม่ติดขัด ดังนั้น ก.ล.ต. จึงพร้อมที่จะสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาสินค้าและบริการประเภทใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและภาคเอกชน ภายใต้กรอบการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล
ก.ล.ต. จะเน้นเป้าหมายทำให้ตลาดทุนไทยพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มีตลาดรองที่มีประสิทธิภาพ มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง และมีการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล ” นายธีระชัยกล่าวสรุป--จบ--