ละเมิดสิทธิส่วนบุคลของผู้กระทำผิด? กรณี 3 เด็กสาวเต้นเปลือยอกในงานสงกรานต์สีลม

ข่าวทั่วไป Tuesday May 10, 2011 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ บทความ โดย มหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์กาแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (สำนักงานประเทศไทย) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร โดยมุ่งเน้นการทำงานในด้านสิทธิเด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา 48 ประเทศทั่วโลก และ 13 ประเทศในทวีปเอเชีย จากกรณี 3 สาววัยรุ่นเต้นเปลือยอกท่ามกลางสายตานับหมื่นในงานสงกรานต์กลางกรุงบนถนนสีลม (และนับแสนนับล้านบนโลกอินเตอร์เน็ต) เมื่อเร็วๆ นี้ แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งในแง่วัฒนธรรมประเพณี แต่อีกด้านหนึ่ง การปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนก็ถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน เด็กสาวเหล่านั้นสมควรถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยหรือไม่ หลังจากเสียค่าปรับ 500 บาท ในข้อหากระทำอนาจารในที่สาธารณะแล้ว เด็กสาวทั้งสาม (อายุ 14 ปี 2 คน ส่วนอีกคนอายุ 16) ถูกเจ้าหน้านำมาแถลงข่าวต่อหน้ากองทัพสื่อมวลชนและช่างภาพจำนวนมาก ในระหว่างการแถลงข่าวเด็กทุกคนอยู่ในชุดเสื้อแขนยาวสีดำ สวมหมวกไอ้โม่ง พร้อมใส่แว่นกันแดดเพื่อปิดบังใบหน้า และกล่าวขอโทษต่อการกระทำอันไม่สมควรดังกล่าว ถูกปฏิบัติไม่ต่างอะไรกับผู้ต้องหาคดีปล้นหรือฆ่า ด้วยรูปแบบการปฏิบัติเดิมๆ ที่ทางตำรวจทำกันมาจนเป็นเรื่องปกติ คำถามคือ แทนที่จะพยายามปิดหน้าปิดตาเด็ก ทำไมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่เลือกที่จะไม่จัดแถลงข่าวเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยได้ลงนามรับรองไว้ รวมถึงกฎหมายพิทักษ์สิทธิเด็กของประเทศไทยเองด้วย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ตามมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งถูกบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กฎหมายดังกล่าวห้ามผู้หนึ่งผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลของเด็กหรือผู้ปกครองเด็ก ไม่ว่าด้วยสื่อรูปแบบใดหรือเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทไหน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติภูมิ หรือสิทธิอันชอบธรรมอื่นใดๆ ของเด็ก ในทางตรงกันข้าม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้หาวิธีให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิภาพแก่เด็กอย่างเหมาะสมตามสถานภาพ สมควรแก่เหตุ และสอดคล้องกับสถานการณ์และลักษณะการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย ไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็กสาวทั้งสาม สื่อมวลชนเองควรตระหนักว่าได้มีส่วนในการละเมิดนั้นด้วย ทั้งนี้ ประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่ร่างโดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่าผู้สื่อข่าวจะต้องตระหนักในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมเรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวด้วย จริงอยู่ ผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปมากแล้ว แทนที่จะจ้องลงโทษเด็กให้หลาบจำเพียงอย่างเดียว จะดีกว่าไหมหากภาครัฐและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและทำงานประสานกันให้มากขึ้น เพื่อสร้างสังคมของเราให้เป็นที่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชนมากกว่านี้ เพราะนั่นน่าจะเป็นวิถีทางที่ช่วยจัดการปัญหาได้อย่างยั่งยืนมากกว่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ฐาปนี นันทวิสัย โทรศัพท์ 02-2541315

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ