กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ปตท.
พี่น้องภาคใต้ 20 ตำบล มุ่งนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป
วันนี้ (10 พฤษภาคม 2554 ) นายวิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และ นายอรรพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานเปิดงานมหกรรมวิถีพอเพียงภาคใต้ “แลตะ ชายเริน วิถีใต้ ได้แรงอก” โดย ปตท. ภายใต้โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียงและภาคีเครือข่าย แกนนำชุมชนจากตำบลที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศกว่า 1,000 คน พร้อมใจกันมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงเรียนวัดควนมีด ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด เทคนิค วิธีการดำเนินงานสู่รูปธรรมความสำเร็จร่วมกัน ผ่านซุ้มนิทรรศการและการสาธิตกิจกรรมของเครือข่ายแห่งการพึ่งตนเอง อาทิ การปลูกผักในล้อรถลดรายจ่ายในครัวเรือน การแปรรูปผลิตภัณฑ์กระจูด การจัดการป่าชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การจัดการขยะครัวเรือน การเกษตรครบวงจร ๔ ชั้น การลดรายจ่ายในครัวเรือน การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โรงสีข้าวพลังงน้ำ ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนาที่น่าสนใจรวมถึงการบรรยายเรื่อง “รู้จัก รู้ทัน มหันตภัยธรรมชาติ ด้วยวิถีพอเพียง” โดย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช และดำเนินรายการโดย คุณฟองสนาน จามรจันทร์
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท. เชื่อมั่นว่า องค์กรจะอยู่ได้ ชุมชนต้องเข้มแข็ง จึงนำมาสู่การกำหนดวิสัยทัศน์องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดูแล สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยการจัดงาน
มหกรรมในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน ตลอดจนภาคีความร่วมมือในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า สามารถนำมาเป็นแนวนโยบายสำคัญของประเทศ เป็นทางเลือกท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่รายล้อมรอบด้านได้จริง ซึ่ง ปตท. ได้เข้าไปหนุนเสริมชุมชนในเรื่องกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปปรับใช้กับองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม และสามารถยกระดับการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ
อนึ่ง “เครือข่ายแห่งการพึ่งพาตนเอง” จะช่วยเคลื่อนงานวิถีพอเพียง ที่เริ่มจากภายในตัวบุคคล ขยายไปสู่ชุมชน ตำบล เกิดเป็นเครือข่ายที่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการฯ จะถูกรวบรวมเป็นรายงานองค์ความรู้ เพื่อนำขึ้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษาต่อไป