กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ไทยธนาคาร
นายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ไทยธนาคารได้มีแผนการเพิ่มทุน 2 ขั้นตอน โดยในขั้นแรกจะเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของไทยธนาคารให้กับกองทุนทีพีจี นิวบริดจ์ (TPG Newbridge) จำนวนประมาณ 556 ล้านหุ้นและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ อีกจำนวน 175 ล้านหุ้น ซึ่งข้อเสนอการเพิ่มทุนในขั้นแรกนี้ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนที่สองฝ่ายจัดการของธนาคารจะเสนอแผนในการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่
ฝ่ายจัดการของธนาคารจะเสนอแผนเพิ่มทุนดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุนเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งแผนเพิ่มทุนนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนจากแผนเพิ่มทุนเดิม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้รับผลกระทบจากรายการพิเศษหลายประการ ทำให้ธนาคารมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าเกณฑ์ของ ธปท. แต่ธนาคารมิได้มีเงินกองทุนติดลบตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และหากธนาคารไม่ได้รับผลกระทบจากรายการพิเศษดังกล่าว ธนาคารจะมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11-12
ทั้งนี้ ผลกระทบจากรายการพิเศษที่จำเป็นต้องรับรู้ทันที ได้แก่ ผลขาดทุนจากการได้รับเงินชดเชยจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (CAP) ซึ่งน้อยกว่าที่ได้บันทึกไว้รวมประมาณ 3,729 ล้านบาทและภาระจากการทยอยตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS39 ทำให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารลดลงไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 7 — 8 อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเข้าถือหุ้นของนักลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องมีการตั้งสำรองให้ครบถ้วน ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS39 จำนวน 1,900 ล้านบาทในครั้งเดียว และตั้งค่าเผื่อการซื้อคืนใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) จากกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนประมาณ 1,146 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้ปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.14 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ร้อยละ 8.5 ฝ่ายจัดการของธนาคารจึงได้เสนอปรับแผนเพิ่มทุนเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว
นายพีรศิลป์กล่าวเสริมว่า ในส่วนของผลการดำเนินงานปกติของธนาคารในปีที่ผ่านมามีกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 97 ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพในการขยายธุรกิจของธนาคาร ดังนั้น การเพิ่มทุนดังกล่าวจะมีผลดีต่อธนาคารในด้านความแข็งแกร่งของเงินกองทุน โดยจะมีเงินกองทุนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13-14 ซึ่งสามารถรองรับการขยายตัวของธนาคารในระยะต่อไป อีกทั้งเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร โดยการให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารเพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนต่อไป