Marc Faber ฟันธงระวังการลงทุนในสหรัฐฯ และ Emerging Market

ข่าวทั่วไป Wednesday April 4, 2007 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--บลจ.ธนชาต
บลจ.ธนชาต จัดสัมมนาใหญ่ เชิญ Dr Marc Faber กูรูการลงทุนระดับโลก พูดเรื่อง “ Long and short term economic,political and financial considerations” ฟันธงระวังการลงทุนในสหรัฐฯ และ Emerging Market
Dr.Marc Faber นักการลงทุนและ Speaker ที่โดดเด่นด้านมุมมองการลงทุนที่แตกต่าง ผู้มีชื่อเสียงจากการแนะนำให้ผู้ลงทุนถอนการลงทุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเหตุการณ์ Black Monday ในปี 1987 คาดการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของ Asia-Pacific ในปี 1997-1998 และอีกหลายประเด็นในตลาดสำคัญ จนเป็นที่จับตามองของผู้ลงทุนและสื่อมวลชนทั่วโลก นอกจากนั้น Dr.Faber ยังได้ออกมาเตือนตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว และอีกครั้งในต้นเดือน ม.ค. นี้ว่าตลาดการลงทุนทั่วโลกอาจถึงเวลาปรับตัวลงในอีกไม่ช้า ก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีน และอีกหลายตลาดสำคัญจะพร้อมใจกันปรับตัวลดลงในปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา Dr.Marc Faber ยังเป็นเจ้าของหนังสือ Best Seller “Tomorrow’s Gold” ยังเป็นนักการลงทุนที่ชี้โอกาสการลงทุนใน “ทองคำ” ตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งขณะนั้นน้อยคนที่จะพูดถึง จนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 6 แล้วที่ราคาทองคำยังคงทะยานสูงขึ้น
ในงานสัมมนาของ บลจ.ธนชาต ครั้งนี้ Dr Marc Faber สรุปอย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดน้อยลงกว่าในอดีต นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมีการขยายตัวตั้งแต่ปี 2001 เนื่องมาจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สภาพดังกล่าวได้กระตุ้นการใช้จ่ายของคนอเมริกันอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ จากการปล่อยสินเชื่อ เช่น Subprime loan รวมทั้งยังทำให้อสังหาริมทรัพย์มีระดับราคาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในสหรัฐฯ ทำให้มีการนำเข้าสินค้า จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น และได้ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและประเทศในเอเชีย มีการขยายตัวสูงกว่า อัตราการเติบโตของประเทศในกลุ่ม G7
การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของสหรัฐ ฯ ยังเป็นผลให้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยแหล่งเงินหล่อเลี้ยงมาจากประเทศที่เกินดุลการค้ากับประเทศสหรัฐฯ เช่น ประเทศจีน และประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย โดยประเทศเหล่านี้นำเงินที่ได้จากการเกินดุลนี้กลับเข้าไปลงทุนในตลาดสหรัฐฯ เช่น ตราสารหนี้
ดร.มาร์ค ฟาเบอร์ ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องมาจากเห็นว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประเด็น เช่น การปล่อยสินเชื่อที่เริ่มส่อเค้ามีหนี้เสีย (Subprime Loan) ปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องค่าเงินดอลล่าร์มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ของโลก เช่น ค่าเงินของจีน และญี่ปุ่น
เขายังกล่าวว่าการลงทุนในญี่ปุ่น เริ่มน่าสนใจและมีแนวโน้มน่าจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการการลงทุนในสหรัฐฯ ในระยะยาว และการไหลกลับของเงินลงทุนของคนญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในต่างประเทศ และการไหลกลับของเงินกู้จากญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในต่างประเทศ น่าจะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึนในอนาคตด้วย
ดร.มาร์ค ฟาเบอร์ กล่าวถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชีย ว่าเป็นที่น่าสนใจ เนื่องมาจากประเทศแถบเอเชียนั้นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง ประชากรอายุยังน้อย และ อัตราการเป็นหนี้ต่ำ ทำให้โอกาสที่อสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่ามากขึ้นมีสูงมาก สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการเลือกลงทุน โดยเฉพาะ น้ำมัน และทองคำ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในขณะที่อุปทานนั้นถูกจำกัด การลงทุนในตลาดในเอเชียก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน
ตอนท้ายเขาสรุปเน้นอีกครั้งว่าการลงทุนในสหรัฐฯไม่น่าสนใจและมีความเสี่ยง ควรลงทุนตลาด Non-U.S. มากกว่า และการลงทุนใน emerging market ก็ควรมีความระมัดระวัง

แท็ก Politic   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ