กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--TMB Analytics
สินเชื่อบ้านดอกเบี้ย 0% สองปี นับเป็นแคมเปญล่าสุดจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ที่เพิ่มแรงกดดันต่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการดึงเงินฝากจากระบบ ในช่วงปีที่ผ่านมา
สินเชื่อบ้านไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรก ที่เป็นวงเงินถึง 25,000 ล้านบาท ที่ ธอส. จะปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยรายแรกนี้ ถือได้ว่าเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ที่ไหลระบบสินเชื่อบ้าน โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 ของยอดสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่ทั้งปีจากสถาบันการเงินทั้งหมด หรือ เกือบร้อยละ 70 ของยอดสินเชื่อทั้งปีที่ปล่อยใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายของการปล่อยกู้ในครั้งนี้ถือเป็นตลาดหลักของลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีลูกค้าขอกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทอยู่เกือบครึ่งของพอร์ทสินเชื่อบ้าน และ เป็นลูกค้าที่ดี สังเกตได้จากสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 0.54
ทั้งนี้ การที่โครงการได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้กู้ เนื่องจากสามารถประหยัดเงินให้ผู้กู้ได้ประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับสินเชื่อปกติของธนาคารพาณิชย์ โดยหากสมมุติว่า เราต้องการกู้เงินไปซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี ผู้กู้จะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 2 ปีแรกได้เกือบ 1.4 แสนบาท อีก 18 ปีที่เหลือ ก็จะประหยัดดอกเบี้ยได้อีกเกือบ 8 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อปกติที่คิดอัตราเงินกู้ MLR ประมาณร้อยละ 7 ต่อปี
การปล่อยกู้ของธอส. ดังกล่าว แม้รัฐบาลจะตั้งใจให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นที่ไม่ได้จำกัดเรื่องรายได้ของผู้กู้ อาจทำให้ทำให้สินเชื่อถูกกระจายไปยังนอกกลุ่มเป้าหมาย ที่มีกำลังซื้อสูงและมีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่ยาก และ หากโครงการนี้ได้รับความนิยมมาก รัฐบาลก็อาจเพิ่มวงเงินอีก 25,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง สัดส่วนตลาดสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะกระโดดจาก 73:27 เป็น 57:43 ได้ในปีนี้
นอกจากด้านสินเชื่อ ธุรกิจเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังเผชิญกับการแข่งขันจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำให้สัดส่วนเงินฝากธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เคยมีอัตราประมาณ 5 เท่า ลดลงเหลือเพียงประมาณ 3 เท่า และยังมีทีท่าว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังลดลงต่อเนื่อง โดยส่วนแบ่งตลาดของเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินจะเป็นของธนาคารพาณิชย์ราวร้อยละ 70 และ เป็นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจประมาณร้อยละ 23 เปลี่ยนแปลงจาก 3 ปีก่อนหน้าที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 77 และ 17 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบหลายประการของผลิตภัณฑ์เงินฝากจากแบงก์รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่นอกเหนือการควบคุมของธปท. ทำให้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มีลักษณะชิงโชคแฝงได้ เช่นสลากออมสิน การเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ หรือจุดเด่นที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐทำให้เงินฝากได้รับการประกันโดยรัฐบาลโดยปริยาย (Implicit Guarantee) หลังจากการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดจำนวนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางสิงหาคมปีนี้เป็นต้นไป ทำให้ปัจจุบัน อัตราการเติบโตของเงินฝากของของสถาบันการเงินเฉพาะกิจสูงกว่าอัตราการเติบโตของเงินฝากธนาคารพาณิชย์เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการเติบโตของเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจในช่วง 2-3 ปีล่าสุด สูงในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ขณะที่เงินฝากธนาคารพาณิชย์มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่ามาก เฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
ในมุมมองบนตลาดสินเชื่อ เรามองว่าโครงการสนับสนุนสินเชื่อบ้านจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากใช้นโยบายแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่สินเชื่อบ้านเท่านั้น ผู้ต้องการสินเชื่อในกลุ่มอื่นยังคงมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกมาก ตัวอย่างเช่น กรณีของธุรกิจ SME ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีจำนวนธุรกิจที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสูงถึงร้อยละ 60 ดังนั้นถ้าหากส่งเสริมสินเชื่อเฉพาะกลุ่ม SMEs ก็จะช่วยลดภาระการเงินของผู้ประกอบการ อีกทั้ง ยังช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจได้อีกด้วย