พม.เปิดเวทีร่างยุทธศาสตร์กระทรวงฯ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ เดินหน้าพัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต

ข่าวทั่วไป Wednesday May 11, 2011 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--พม. วันนี้ (๑๑ พ.ค.๕๔) เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการสัมมนา“ก้าวต่อไปของการพัฒนาสังคมไทยกับยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙” เพื่อสร้างความตระหนักในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับทราบนโยบายของผู้บริหารกระทรวงฯ และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาสังคมในระดับชาติและในระดับสากล โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้บริหาร บุคลากรของกระทรวงฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม ๓๐๐ คน นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ทางสังคมในระยะ ๕ ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปและผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับคุณภาพของการบริการทางสังคมซึ่งมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท การเข้าถึงบริการยังไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและคุณภาพคน จากแนวคิดสังคมคุณภาพ (Social Quality) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริม การพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน จึงได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ เพื่อเป็นยุทธศาสตร์รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างเท่าทัน และเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙ ภายใต้วิสัยทัศน์ กระทรวงหลักในการขับเคลื่อนและประสานนโยบายทางสังคมให้เกิดสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพ พร้อมที่จะเป็นผู้ประสาน กำกับ และดำเนินการตามหน้าที่และบูรณาการในภาพรวม แผนยุทธศาสตร์จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งเป็นกระแสหลักของการบริหารงานของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และเป็นเครื่องค้ำประกันถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้ เป็นการระดมความเห็นเบื้องต้นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารของกระทรวงฯ เพื่อเป็นการชี้นำทิศทางโดยรวมของกระทรวงฯ ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พ.ศ. ๒๕๕๕ — ๒๕๕๙ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ นี้ โดยมีประเด็นท้าทายที่น่าสนใจหลายประเด็น ได้แก่ ๑. ความท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ และประชาคมโลก เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เกิดเครือข่าย Social Network มีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ และการเข้าสู่ประชาคมโลก ซึ่งกระทรวงฯ รับผิดชอบด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องทบทวนหรือสร้างกลไกการพัฒนาสังคมใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดเสาหลักด้านสังคมพร้อมๆกับการเตรียมการรองรับประเด็นปัญหาสังคม หรือกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่จะตามมา ๒. ความท้าทายจากการทวีความรุนแรงของภัยพิบัติจากธรรมชาติและภัยที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศและความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสังคมในสถานการณ์ไม่ปกติ หรือใช้เพื่อเป็นแนวทางหรือกลไกในการขับเคลื่อนกระบวนการฟื้นฟู เยียวยาให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ๓.ความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ ที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปเกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรของประเทศและจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี ๒๕๗๓ เพราะมีสัดส่วนประชากรสูงถึง ๒๕ เปอร์เซนต์ กระทรวงฯ จึงได้ผลักดันให้จัดตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อรองรับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้น ๔. ความท้าทายจากทิศทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ตามวิสัยทัศน์แผนฯ ฉบับที่ ๑๑ มียุทธศาสตร์เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงฯ คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม และยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน จึงต้องมีกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและสวัสดิการในอนาคต ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับโอกาสและได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ๕. ความท้าทายจากการจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งต้องวางยุทธศาสตร์ให้เน้นการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการพัฒนากลไกใหม่ๆในด้านสวัสดิการสังคมโดยมีกระทรวงเป็นจุดเชื่อมประสาน สนับสนุนกลไกทางนโยบายและระดมความร่วมมือทั้งประเทศ ๖.ความท้าทายจากวิกฤตด้านปัญหาสังคมของกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบันและอนาคตด้วยการบ่มเพาะปัญญาและคุณธรรมแก่กลุ่มเป้าหมาย นอกจากเรื่องผู้สูงอายุแล้ว ยังมีปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น การค้ามนุษย์ แม่วัยรุ่น สถาบันครอบครัวที่อ่อนแอ เป็นต้น จึงต้องพัฒนาให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการพึ่งตนเอง อย่างมีปัญญา รู้เท่าทัน บนพื้นฐานคุณธรรมซึ่งจะเป็นทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ๗.ความท้าทายจากการปรับโครงสร้างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระทรวงฯ ได้มีการปรับโครงสร้างการทำงาน เช่น การจัดตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุและปรับโครงสร้างให้ส่วนราชการระดับกรมมีทั้งวิชาการและปฏิบัติ และแยกตามกลุ่มเป้าหมาย ยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ฉบับนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงภายใต้โครงสร้างใหม่ ทั้งนี้ จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ระหว่างวันที่ ๓๐ พ.ค. — ๑ มิ.ย.๒๕๕๔ ที่จังหวัดนครนายก ก่อนจะนำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วน และผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ อีก ๘ ครั้ง ในทั้ง ๔ ภาค ๆ ละ ๒ จังหวัดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ