กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม.จัดเทศกิจ 671 นายดูแลการจราจรหน้าโรงเรียนดัง ลดปัญหาติดขัดวันเปิดเทอม 18 พ.ค.นี้ พร้อมจัดทีม BEST ซ่อมแซมรถเสียและเร่งเคลื่อนย้ายรถเปิดเส้นทางให้คล่องตัว ขณะที่ ผู้ว่าฯ กทม.จะนำสื่อมวลชนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ร่วมตรวจสภาพจราจรตลอดเส้นทางวิภาวดีรังสิต-ถ.สามเสน และใช้ CCTV รายงานการจราจรบนท้องถนนช่วยประชาชนวางแผนการเดินทาง
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้านการจราจรของกรุงเทพมหานครในวันเปิดภาคเรียน 18 พ.ค.54 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าสถานศึกษาซึ่งส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่จากสำนักเทศกิจ และฝ่ายเทศกิจ 50 เขต ตั้งจุดปฏิบัติการจราจร 422 จุด รวมจำนวนเทศกิจ 671 นาย ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ ตามโครงการเทศกิจอาสาพาน้องข้ามถนน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง อีกทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ออกตรวจสอบและแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางบนทางเท้าและผิวจราจรโดยเฉพาะจุดกวดขันพิเศษ ตลอดจนร่วมกับหน่วย BEST ในการซ่อมแซมยานพาหนะขัดข้องและเคลื่อนย้ายพาหนะในจุดเกิดอุบัติเหตุ เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรและให้เกิดสภาพคล่องโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ในวันที่ 18 พ.ค.54 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะนำสื่อมวลชนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ จากสนามบินดอนเมือง ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อตรวจสภาพการจราจรในเส้นทางดอนเมืองโทลเวย์ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้าถนนสามเสนเนื่องจากมีโรงเรียนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจะถ่ายทอดสภาพการจราจรจากห้องควบคุมกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งรับสัญญาณภาพจาก CCTV ที่ติดตั้งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 10,000 จุด ผ่านสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตอบข้อมูลด้านการจราจรให้กับประชาชนที่สนใจ นอกจากนี้ในอนาคต กทม.จะจัดให้มีการรายงานสภาพการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนผ่านสถานีโทรทัศน์ของกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Channel) และทางอินเตอร์เน็ต ทุกวัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการตรวจสอบสภาพการจราจรก่อนออกเดินทางด้วย
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมต่ออย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มเติมเส้นทางการเดินเรือโดยสารในคลองฝั่งธนบุรีเช่นเดียวกับการเดินเรือในคลองแสนแสบ การก่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการพิจารณาปรับเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้องกับระบบรางและระบบเสริม โดยกทม.พร้อมรับมาดำเนินการเอง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้การดูแลการคมนาคมเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบัน กทม.ได้เร่งผลักดันให้เกิดระบบเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น รถไฟฟ้า Monorail พร้อมทั้งได้เร่งขยายเส้นทางส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้สะดวกยิ่งขึ้นและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย