กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ปภ.
สภาพอากาศในช่วงสัปดาห์นี้ มีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น เพราะมีมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงเข้าปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย คาดว่าความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาเสริมอีก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ทำให้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นต่อไป กับมีน้ำค้างแข็ง หรือที่เรียกกันว่า “แม่คะนิ้ง” หรือ “เหมยขาบ” ขึ้นตามยอดดอย โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรให้ระมัดระวังน้ำค้างแข็ง ที่อาจสร้างอันตรายและความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร ดังนี้
โดยปกติเวลาที่น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งนั้น จะเริ่มจากการแข็งตัวขึ้นที่บริเวณผิวน้ำก่อน ซึ่งยังนับว่าเป็นผลดีต่อทั้ง พืชและสัตว์ แต่ถ้าหากก่อตัวขึ้นที่บริเวณก้นท้องน้ำก่อน ก็จะทำให้สัตว์ที่อยู่ในน้ำแข็งตาย ส่วนพืชที่อยู่ในน้ำก็จะตายได้ เช่นกัน เพราะความหนาวเย็นนั่นเอง และสำหรับพืชผลทางการเกษตร น้ำค้างแข็งจะทำให้ข้าวที่กำลังออกรวงมีเมล็ดลีบ พืชไร่ชะงักการเจริญเติบโต พืชผักใบจะหงิกงอไหม้เกรียม กล้วย มะพร้าว และทุเรียน ใบจะแห้งและร่วง ซึ่งจะสร้าง
ความเสียหายมากขึ้น หากเกิดน้ำค้างแข็งติดต่อกันหลายวัน ดังนั้น เกษตรกรควรสร้างสิ่งปกคลุมป้องกันน้ำค้างแข็ง โดยให้นำพลาสติกมาหุ้มพืชผลที่กำลังออกดอกออกผลหรือกางมุ้งปกคลุมทั้งต้นไว้ เพื่อป้องกันมิให้ไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเกาะตามพืชผล นอกจากนี้ยังพบว่า น้ำค้างแข็งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หากมีน้ำค้างแข็งเกาะอยู่บนผิวถนนที่เปียก หรือตามถนนที่เป็นหลุม เป็นบ่อ หรือเป็นแอ่ง ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากจะวังภัยจากน้ำค้างแข็งในฤดูหนาวแล้ว เกษตรกรควรระมัดระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เกิดจากแมลง และสัตว์ปีก เช่น โรคไข้หวัดนก เพราะเชื้อโรคสามารถแพร่พันธุ์ได้ดีในช่วงฤดูหนาว และควรระมัดระวังการการเกิดไฟป่า อันเกิดจากการจุดไฟเผาหญ้า เพราะอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลาม รวมทั้งควันไฟอาจทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้ และยังทำให้ดินสูญเสียความชุ่มชื้นและอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินได้ สุดท้ายนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เกษตรกรควรเพิ่มความเอาใจใส่และดูแลพืชผลที่ตนเองปลูกไว้ให้มากขึ้น รวมทั้งควรร่วมกันตรวจตรา หากพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพืช ผลในไร่สวนของตนเอง ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรที่อยู่ในพื้นที่ทราบทันที และควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาให้ทางราชการทราบ เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องและเร่งด่วนต่อไป