กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สสวท.
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad ระดับภูมิภาค ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์ประกวด 20 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นเวทีสำหรับนักเรียนทุกระดับชั้นในการนำความรู้คณิตศาสตร์ที่ได้รับในห้องเรียนมาประมวลสร้างสรรค์ผลงานเข้าประกวดในระดับภูมิภาคจากศูนย์ประกวดทั้งหมด 20 ศูนย์ทั่วประเทศ จากนั้นคัดเลือกผลงานของผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งของแต่ละศูนย์เข้าประกวดระดับประเทศ
การประกวดแบ่งออกเป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ประดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ละโรงเรียนส่งทีมเข้าร่วมประกวดได้ระดับละไม่เกิน 2 ทีม ทีมละ 2 คน ผลงานที่ส่งเข้าสมัคร เป็นผลงานในหัวข้อ “มหัศจรรย์ป่าเมืองไทย” ผู้สนใจสมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ณ ศูนย์ประกวด 20 ศูนย์ทั่วประเทศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://thaigsp.ipst.ac.th Email : pithon@ipst.ac.th โทร. 02-392-4021 ต่อ 2510 หรือโทรศัพท์สายตรงสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. โทร. 02-392-9348
ศูนย์ประกวดทั้ง 20 ศูนย์ ได้แก่ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี โรงเรียนสตรีสิริเกษ จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จ. เลย โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จ. อุดรธานี โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จ. กาฬสินธุ์ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก โรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ จ. เชียงใหม่ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ. เชียงราย โรงเรียนท่าใหม่ “พูลสวัสดิ์ราษฏร์นุกูล” จ. จันทบุรี โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.ราชบุรี โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี โรงเรียนสุราษฏร์ธานี จ.สุราษฏร์ธานี โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ. สงขลา โรงเรียนศรียาภัย จ. ชุมพร โรงเรียนเมืองถลาง จ.ภูเก็ต โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ. เพชรบุรี
The Geometer’s Sketchpad หรือ GSP เป็นโปรแกรมที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทย มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะโปรแกรมนี้ครูสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมาก สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหว (animation) มาใช้อธิบายเนื้อหาที่ยาก ๆ เช่น ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ (เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส), ฟิสิกส์ (กลศาสตร์ และอื่น ๆ ) ให้เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจง่าย และโปรแกรมยังเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติด้วย ตัวเองได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะอย่างไม่มีข้อจำกัด